วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

ทวิลักษณ์ของพระสังข์ ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง

ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของ ทวิลักษณ์ว่า
ทวิ หมายถึง สอง
ลักษณ์ หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว , ลักษณะ
ดังนั้นคำว่าทวิลักษณ์ จึงหมายถึง สองลักษณะ หรือ ลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งๆหนึ่งที่มีสองแบบซึ่งประกอบไปด้วยด้านสอง ด้านที่มีความแตกต่างกัน หรือตรงข้ามกัน และการรักษาสมดุลระหว่างทั้งสองด้านนั้นเพื่อสร้างระเบียบให้กับสรรพสิ่ง ในวรรณคดีไทยนั้นการใช้ทวิลักษณ์จะใช้ในเรื่องของการสร้างตัวละคร คือตัวละครทุกตัวย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อความสมจริงและความสนุกสนานของเรื่อง
ในวรรณคดีประเภทต่างๆย่อมมีตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะและบทบาทที่แตกต่างกันออกไป การศึกษาบุคลิกลักษณะของตัวละครคือการศึกษาถึงพฤติกรรมของตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านมองเห็นหรือเข้าใจตัวละครตัวนั้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้อ่านวรรณคดีได้รสมากขึ้น และยังอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดของผู้แต่งที่แฝงไว้ในเรื่องด้วย บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กล่าวถึงความสำคัญของลักษณะนิสัยของตัวละครไว้ว่า

“ ลักษณะนิสัยของตัวละครเป็นเนื้อหาสำคัญที่สุดอันหนึ่งของหนังสือและความสนใจ ของคนอ่านส่วนใหญ่ที่มีความนึกคิดพอสมควร ก็มักขึ้นต่ออุปนิสัยของตัวละคร
ลักษณะนิสัยไม่เหมาะใจผู้อ่านหนังสือเรื่องนั้นก็มักจะไม่ดึงดูดความสนใจไปได้นาน ในการพิจารณาลักษณะนิสัยตัวละคร ควรตั้งแนวดังนี้ ตัวละครตัวไหนสำคัญแก่เนื้อเรื่อง หรือแก่ความคิดเห็นและปรัชญาของผู้ประพันธ์ มีตัวละครตัวไหนในเรื่องนั้นทำให้เนื้อเรื่อง มีรสขึ้นในทางใด ตัวใดควรถือเป็นตัวเอกเกี่ยวเนื่องกับชื่อเรื่องหรือไม่ ”

ลักษณะนิสัยตัวละครในนวนิยายเท่าที่ปรากฏมีสองลักษณะ คือ ประเภทน้อยลักษณะ (Flat character) และประเภทหลายลักษณะ (round character) ตัวละครน้อยลักษณะคือตัวละครที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของความคิด หรือคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้อ่านสามารถทำความรู้จัก และจดจำตัวละครประเภทนี้ได้ง่าย
ความหมายของตัวละครในวรรณกรรมมีอยู่สองระดับ คือ ระดับแรกตัวละครคือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่อง ความหมายระดับที่สองคือ คุณลักษณะของตัวละคร เช่น รูปร่างหน้าตา หรือ คุณสมบัติพิเศษทางศีลธรรม แต่โดยทั่วไปแล้วตัวละครในเรื่องเล่าหมายถึงผู้มีบทบาทในท้องเรื่องและเหตุการณ์ ต่าง ๆ นั่นเองการที่ตัวละครปรากฏในเรื่องในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีของผู้แต่ง กลวิธีวิเคราะห์การนำเสนอตัวละคร อาจทำโดยใช้การสังเกตในด้านลักษณะรูปร่าง หน้าตา ลักษณะการพูดจา บทสนทนา พฤติกรรมซึ่งหมายถึงการกระทำต่าง ๆ ความรู้สึกนึกคิด ปฏิกิริยา จากตัวละครอื่น
พระสังข์ ในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ที่ผู้เขียนนำมาศึกษา จะเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก เพราะพระสังข์เป็นตัวละครเอกที่มีบทบาทต่อการดำเนินไปของเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง พฤติกรรมด้านต่างๆรวมทั้งการแสดงออกของตัวละครตัวนี้จะส่งผลกระทบในแง่ต่าง ๆ กับตัวละครอื่น อีกทั้งพระสังข์ยังเป็นตัวละครเอกของเรื่องที่มีหลายลักษณะทั้งลักษณะในเชิงบวกและลักษณะในเชิงลบ ลักษณะในเชิงบวกจะเป็นพฤติกรรมที่ดีของพระสังข์ ส่วนเชิงลบนั้นจะแสดงให้เห็นลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ของพระสังข์ ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ เป็นต้น ส่วนลักษณะในเชิงลบนั้นพระสังข์ถึงแม้จะเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ก็ยังมีลักษณะในเชิงลบที่ส่งผลให้ตัวละครอื่นในเรื่องได้รับความเดือดร้อน หรือเป็นทุกข์จากการกระทำของพระสังข์ได้เช่นเดียวกันลักษณะนิสัยที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบลบของตัวละครทำให้ตัวละครพระสังข์มีความน่าสนใจมาก ผู้เขียนจึงนำพระสังข์มาศึกษาในเรื่องของลักษณะในเชิงบวกและเชิงลบ ภายใต้ชื่อบทความว่า ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง

ภูมิหลังของตัวละคร

พระสังข์เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง เป็นโอรสของท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวี ก่อนที่พระสังข์จะประสูติ ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีไม่มีโอรสธิดา จึงบวงสรวงและรักษาศีลห้าเพื่อขอบุตร และประกาศแก่พระมเหสีและทางสนมว่าถ้าใครมีโอรสก็จะมอบเมืองให้ครอง
กล่าวถึงเทวดาองค์หนึ่งในชั้นดาวดึงส์เกิดความร้อนรุ่ม รัศมีหม่นหมอง สิ่งของเครื่องใช้หม่นไหม้ เทวดาองค์นั้นรู้ว่าตนใกล้วายชนม์ เมื่อส่องตาทิพย์ดูในโลกมนุษย์ ก็รู้ว่าท้าวยศวิมลบวงสรวงเทวดาขอพระโอรส เหล่าเทวดาจึงมาทูลขอให้จุติจากสวรรค์ เทวดาองค์นั้นจึงดำริว่าจะไม่รอให้เทวดาองค์อื่นมาเชิญ แต่จะจุติลงมาเกิดในครรภ์ของมนุษย์เพื่อแสวงบุญ
มาจะกล่าวบทไป สุราลัยในดาวดึงส์สวรรค์
เมื่อผลจะสิ้นพระชนม์นั้น อัศจรรย์ร้อนรนเป็นพ้นไป
รัศมีศรีตนก็หม่นหมอง สิ่งของของตัวก็มัวไหม้
เทวาตระหนกตกใจ แจ้งในพระทัยจะวายชนม์
แล้วจึงตรึกตรองส่องเนตร แจ้งใจในเหตุเภทผล
พระเจ้าท้าวยศวิมล เสสรวงบวงบนแก่เทวัญ
เทวาจะมานิมนต์เรา ให้พรากจากดาวดึงส์สวรรค์
อย่าเลยจะจุติพลัน อย่าให้เทวัญทันนิมนต์
ลงไปเกิดในมนุสสา แสวงหาศิลทานการกุศล
คิดแล้วกลั้นใจให้วายชนม์ ปฏิสนธิ์ยังครรภ์กัลยา
(สังข์ทอง : ๓๓)

คืนหนึ่งท้าวยศวิมลทรงสุบินด้วยเทพสังหรณ์ว่าจะได้พระโอรส เมื่อสะดุ้งตื่นบรรทมตอนเช้ามืด พระองค์ทรงให้เสนาตามโหรหลวงมาเฝ้า พระองค์ทรงเล่าว่าทรงสุบินว่า พระอาทิตย์ตกลงหน้าพระพักตร์ทางทิศใต้ และมีดาวดวงน้อยตกลงบนดินด้วย พระหัตถ์ซ้ายคว้าดวงดาวไว้ พระหัตถ์ขวาคว้าดวงอาทิตย์ แต่ดวงอาทิตย์หายไป ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยมาก ต่อมาจึงได้คืน โหรหลวงได้ทำนายพระสุบินว่า พระมเหสีจะประสูติพระโอรสผู้มีบุญญาธิการมาก แต่จะพลัดพรากจากวังเป็นเวลานานกว่าจะเสด็จคืนเมือง ส่วนนางในจะให้กำเนิดพระธิดา ท้าวยศวิมลจะทรงเป็นทุกข์โศกเศร้า แต่ในที่สุดเมื่อพระโอรสเสด็จคืนเมืองจะทรงเกษมสำราญ
เมื่อนางจันท์เทวีทรงครรภ์พระนางมีสิริโฉมงดงามขึ้นทุกวัน เมื่อนางจันท์เทวีทรงครรภ์ครบ ๑๐เดือนใกล้เวลาประสูติ ทรงปวดพระครรภ์แทบจะสิ้นชีวิตจนร้องครวญคราง เหล่านางในที่ดูแลต่างแปลกใจที่พระนาภีแข็ง ไม่มีเด็กดิ้น คลำพบวัตถุกลม ๆ กลิ้งอยู่ภายใน นางในรีบกราบทูลให้ท้าวยศวิมลให้ทรงทราบ ท้าวยศวิมลรีบเสด็จด้วยความตื่นเต้นยินดี แต่เนื่องจากผลกรรมที่นางจันท์เทวีต้องจากราชบัลลังก์ พอได้เวลาก็ทรงคลอดพระโอรสซึ่งกำบังกายอยู่ในหอยสังข์
เมื่อนั้น มเหสีป่วนปั่นพระครรภ์เจ้า
มิได้วายว่างบางเบา เจ็บราวกับเขาผูกคร่าร้า
เป็นกรรมตามทันมเหสี จะจากที่สมบัติวัตถา
ยามปลอดก็คลอดพระลูกยา กุมารากำบังเป็นสังข์ทอง
(สังข์ทอง : ๓๙)

นางจันทาเกิดความริษยา จึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะท้าวยศวิมลหลงเชื่อนางจันทา จึงเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยตายายชาวไร่ ช่วยงานตายายเป็นเวลา ๕ ปี พระโอรสในหอยสังข์แอบออกมาช่วยทำงาน
เมื่อนั้น พระสังข์ซ่อนอยู่ก็รู้สิ้น
พระแม่ไปป่าเป็นอาจิณ ในจิตคิดถวิลทุกเวลา
จะใคร่ออกช่วยพระแม่เจ้า สงสารผ่านเกล้าเป็นหนักหนา
เหนื่อยยากลำบากกายา กลับมาจนค่ำแล้วร่ำไร
ไม่ว่าลูกน้อยเป็นหอยปู อุ้มชูชมชิดพิสมัย
พระคุณล้ำลบภพไตร จะออกให้เห็นตัวก็กลัวการ
ไก่ป่าพาฝูงมากินข้าว ของพระแม่เจ้าอยู่ฉาวฉาน
คุ้ยเขี่ยเรี่ยรายทั้งดินดาน พระมารดามาเห็นจะร่ำไร
เยี่ยมลอดสอดดูทั้งซ้ายขวา จะเห็นใครไปมาก็หาไม่
ออกจากสังข์พลันทันใด ฉวยจับไม้ได้ไล่ตี
(สังข์ทอง : ๕๑- ๕๒)

เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย พระสังข์เห็นเช่นนั้นก็ร้องไห้รำพัน และนางจันท์เทวีเลี้ยงพระสังข์มาด้วยความรัก
ฝ่ายท้าวยศวิมลเศร้าพระทัย เพราะอาลัยอาวรณ์นางจันท์เทวีมาก นางจันทาสังเกตเห็นงุ่นง่านใจกลัวจะไม่ได้เป็นใหญ่ จึงให้ยายเฒ่าสุเมธามาทำเสน่ห์ให้ท้าวยศวิมลหลงรักและทูลยุยงว่านางจันท์เทวีมีลูกชายมาอยู่ด้วยคนหนึ่งในป่าน่าจะเป็นลูกชู้ นำความเสื่อมเสียมาแก่ท้าวยศวิมล ให้ประหารพระสังข์เสีย ท้าวยศวิมลหลงเชื่อ สั่งประหารพระโอรสของตนแต่ด้วยบุญญาธิการของพระสังข์ จะฆ่าอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ตาย
เมื่อท้าวยศวิมลทรงทราบว่าพระโอรสมิใช่หอยสังข์แต่เป็นพระกุมารที่มีบุญญาธิการ ท้าวเธอก็จะให้รับพระโอรสและนางจันท์เทวีกลับวัง แต่ถูกนางจันทาทัดทานไว้ และในที่สุดนางจันทาเสนอให้เอาไปถ่วงน้ำจมหายไปต่อหน้าพระมารดา ด้วยบุญของพระสังข์ ถูกหินถ่วงจมลงไปตรงปล่องนาคาอันเป็นประตูสู่เมืองบาดาล พญานาคคือท้าวภุชงค์มาพบเห็นพระสังข์นอนสลบอยู่ จึงนำไปเลี้ยง แต่เห็นว่าจะเลี้ยงกันไม่สะดวกเพราะตนเป็นนาค จึงส่งพระสังข์ไปให้เพื่อนรักคือนางพันธุรัตเลี้ยงดู
สารท้าวภุชงค์ทรงศักดิ์ คิดถึงแม่รักยักษา
แต่สหายวายปราณนานมา ชั่วช้ามิได้มาเยี่ยมเยือน
องค์ท้าวกุมภัณฑ์ที่บรรลัย ความสมัครรักใคร่ใครจะเหมือน
เจ้าน้อยใจที่ไม่เยี่ยมเยือน รักเจ้าเท่าเทียมเหมือนกัน
เป็นหญิงครองเมืองมณฑล เสนีรี้พลจะเดียดฉันท์
เราไซร้ได้บุตรบุญธรรม์ มนุษย์จ้อยน้อยนั้นถือสารไป
เจ้าจงเลี้ยงไว้เป็นลูกรัก เราเห็นบุญหนักศักดิ์ใหญ่
จะได้ครอบครองพระเวียงชัย เลี้ยงไว้ค้ำชูแทนหูตา
(สังข์ทอง : ๑๐๐)
นางพันธุรัตเป็นยักษ์ สามีเสียชีวิตแล้ว นางเลี้ยงพระสังข์ด้วยความรักอย่างจริงใจนางพันธุรัตและพี่เลี้ยงแปลงเป็นมนุษย์เลี้ยงพระสังข์มาจนอายุ ๑๕ ปี นางพันธุรัตห้ามขาดไม่ให้พระสังข์เข้าไปที่หวงห้ามแห่งหนึ่ง แต่วันหนึ่งเมื่อนางพันธุรัตไปหากินตามปกติ พระสังข์ก็แอบเข้าไปที่นั่น ไปพบซากโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง เสือ กวาง พบบ่อปิดบ่อหนึ่งเป็น บ่อเงิน อีกบ่อ เป็นบ่อทอง มีรูปเงาะ เกือกแก้วและไม้เท้า เมื่อลองสวมชุดเงาะและเกือกแก้วดูก็ สามารถเหาะไปมาได้ พระสังข์จึงวางแผนหลบหนีนางพันธุรัตเพื่อจะไปหาพระมารดา แล้ววันหนึ่งพระสังข์ก็ลงชุบตัวในบ่อทองแล้วสวมรูปเงาะจะเหาะหนีไป
นางพันธุรัตติดตามไป พระสังข์อธิษฐานไม่ให้นางพันธุรัตขึ้นไปได้ นางอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนต์เรียก เนื้อเรียกปลาไว้ให้ที่แผ่นศิลาเชิงเขา เรียกว่ามหาจินดามนต์ นางพันธุรัตร้องไห้อ้อนวอนพระสังข์จนกระทั่งอกแตกตายด้วยความอาลัยรักพระสังข์ ซึ่งขณะนั้นพระสังข์ก็สับสน ไม่เชื่อในคำของนาง พระสังข์ลงมาจัดการเรื่องศพพระมารดา โดยสั่งไพร่พลให้จัดการใส่พระเมรุ พระสังข์ก็ท่องมนต์ แล้วเหาะไปจนถึงเมืองท้าวสามนต์
พระสังข์ในรูปเงาะเห็นนางรจนาก็พอใจในความงามของนาง จึงอธิษฐานให้นางเห็นรูปทองของพระองค์ซึ่งซ่อนอยู่ในรูปเงาะ รจนาได้เห็นรูปที่แท้จริงของพระสังข์ จึงเสี่ยงพวงมาลัยให้เจ้าเงาะ ท้าวสามนต์เสียใจมากจึงขับไล่นางรจนาให้ไปอยู่กับเจ้าเงาะที่ปลายนา
ท้าวสามนต์รู้สึกอับอายและเสียเกียรติอย่างมากที่รจนาได้เจ้าเงาะเป็นสามี จึงวางแผนคิดฆ่าเจ้าเงาะโดยให้เขยทั้ง ๗ คนไปหาปลามาคนละ ๑๐๐ ตัว ใครได้น้อยจะถูกฆ่า พระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกัน หกเขยจึงหาปลาไม่ได้เลย มาพบพระสังข์ก็สำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงขอปลาพระสังข์จึงให้ปลาคนละ ๒ ตัวโดยขอแลกกับการเชือดปลายจมูก
ท้าวสามนตร์โกรธมากที่อุบายไม่เป็นผล จึงสั่งให้เขยทุกคนไปหาเนื้ออีก และก็เหมือนครั้งก่อน ด้วยเวทมนตร์ของพระสังข์ ฝูงเนื้อทรายทั้งหลายก็ไปชุมนุมอยู่กับพระสังข์ หกเขยได้เนื้อทรายไปคนละตัวโดยแลกกับการถูกเชือดใบหู
พระอินทร์รู้สึกว่าอาสน์ที่ประทับของพระองค์แข็งกระด้าง จึงส่องทิพยเนตรดูก็เห็นว่านางรจนามีความทุกข์เพราะเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูป ทำให้ต้องตกระกำลำบากและถูกท้าวสามนต์หาเหตุแกล้งอยู่เนืองๆ พระองค์จึงแปลงองค์ลงมาท้าตีคลีพนันเอาเมืองทับท้าวสามนต์ ท้าวสามนต์ให้หกเขย ไปตีคลีก็พ่ายแพ้ จึงจำใจไปอ้อนวอนเจ้าเงาะ เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์งดงามถูกใจท้าวสามนต์ ยิ่งได้ทราบว่าเป็นโอรสกษัตริย์ด้วยก็ยิ่งพอใจ พระสังข์ไปตีคลีได้ชัยชนะเพราะพระอินทร์แสร้งหย่อนอ่อนมือให้
พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมลพระบิดาของพระสังข์เพื่อสั่งสอนให้รู้ดีรู้ชั่วและสั่งให้ไปรับนางจันท์เทวีเพื่อไปตามพระสังข์ ท้าวยศวิมลรับนางจันท์เทวีเดินทางไปตามพระสังข์ที่เมืองท้าวสามนต์ นางจันท์เทวีเข้าไปช่วยทำอาหารในฝ่ายที่ต้องทำอาหารถวายพระสังข์ นางนำชิ้นฟักมาแกะสลัก เป็นเรื่องราวชีวิตตั้งแต่หนหลังแล้วนำมาแกง พระสังข์เสวยแกงเห็นชิ้นฟักก็สงสัยจึงนำมาเรียงกันแล้วก็รู้เรื่องทั้งหมด ในที่สุดพ่อแม่ลูกก็ได้พบกันด้วยดี ท้าวยศวิมลขอโทษในความหลงผิดของตน และชวนกันกลับบ้านเมือง พระสังข์พารจนาไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น