วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552
ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง (ต่อ ๑)
พระสังข์ถึงแม้จะเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ก็ยังมีลักษณะในเชิงลบที่ส่งผลให้ตัวละครอื่นในเรื่องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนี้ ด้านรูปลักษณ์ เมื่อพิจารณาเนื้อหาในเรื่องสังข์ทองจะพบว่าพระสังข์ มีรูปลักษณะที่น่ารังเกียจอยู่ ๒ รูป และรูปลักษณ์แต่ละรูปล้วนสร้างปัญหาแก่พระสังข์ทั้งสิ้นดังนี้
๑. พระสังข์ และมารดาต้องถูกขับออกจากบ้านเมืองไปอยู่ป่าเพราะพระสังข์เกิดมาในรูปหอยสังข์ ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ที่น่ารังเกียจ ทำให้ผู้เป็นบิดาอับอาย ดังที่ปรากฏในบทประพันธ์ว่า
เมื่อนั้น มเหสีป่วนปั่นพระครรภ์เจ้า
มิได้วายว่างบางเบา เจ็บราวกับเขาผูกคร่าร้า
เป็นกรรมตามทันมเหสี จะจากที่สมบัติวัตถา
ยามปลอดก็คลอดพระลูกยา กุมารากำบังเป็นสังข์ทอง
มเหสีตระหนกอกสั่น สาวสวรรค์หวั่นไหวทั้งในห้อง
ผ่านฟ้าดั่งเลือดตานอง แตรสังข์แซ่ซ้องประโคมพลัน
พระทัยวาบสำเนียงเสียงศรี ภูมีขับเหล่านางสาวสรรค์
ภูมินทร์เพียงจะสิ้นชีวัน อับอายสาวสรรค์กำนัลใน
จึงตรัสกับองค์มเหสี เจ้าพี่เราจะคิดเป็นไฉน
ไม่พอที่จะเป็นก็เป็นไป เมื่อหาลูกไม่ก็ทุกข์ทน
อุตส่าห์บนบานศาลกล่าว ครั้นมีมาเล่าไม่เป็นผล
อับอายไพร่ฟ้าข้าคน พี่จะใคร่กลั้นชนม์ให้พ้นอาย
(สังข์ทอง : ๓๙)
ท้าวยศวิมลเชื่อโหรว่าการถือกำเนิดของพระสังข์ในรูปนี้จะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนต้องแก้ไขด้วยการเนรเทศออกจากเมือง
๒. เมื่อรจนาเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ครองท้าวสามนต์รังเกียจเจ้าเงาะ เพราะมีหน้าตาอัปลักษณ์มีลักษณะค่อนไปทางยักษ์หรือลิงมากกว่าจะดูเป็นคน ดังในบทประพันธ์เด็กเลี้ยงโคได้บรรยายรูปร่างหน้าตาของเจ้าเงาะดังนี้
รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก ลางคนว่าแขกกะลาสี
อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง
บ้างว่าไอ้นี่ลิงทโมนใหญ่ บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง
หน้าตามันขันยิงฟันฟาง หรือจะเป็นผีสางที่กลางนา
(สังข์ทอง : ๑๓๑)
นอกจากนี้ท้าวสามนต์ยังบรรยายรูปร่างหน้าตาเจ้าเงาะ ดังนี้
เมื่อนั้น ท้าวสามนต์เห็นเงาะชังน้ำหน้า
เนื้อตัวเป็นลายคล้ายเสือปลา ไม่กลัวใครใจกล้าดุดัน
ผมหยิกยุ่งเหยิงเหมือนเซิงฟัก หน้าตาตละยักษ์มักกะสัน
พระเมินเสียมิได้ดูมัน แล้วมีบัญชาประชดรจนา
จงออกไปเลือกคู่ดูอ้ายเงาะ มันงามเหมาะเหลือใจเป็นใบ้บ้า
หรือจะชอบอารมณ์สมหน้าตา หน่อกษัตริย์จัดมาไม่พอใจ
(สังข์ทอง : ๑๖๕)
เจ้าเงาะและรจนาจึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ปลายนาแทนที่จะได้อยู่ในบ้านเมืองอย่างสุขสบายเหมือนธิดาและเขยอื่น ๆ ของท้าวสามนต์ นอกจากนี้ทำให้ท้าวสามนต์หาอุบายฆ่าเจ้าเงาะหลายครั้ง ทำให้เจ้าเงาะต้องแสดงความสามารถในการหาเนื้อหาปลาจึงรอดพ้นอันตรายมาได้ รูปเงาะนี้เป็นรูปลักษณ์ที่หน้ารังเกียจรูปลักษณ์ที่ ๒ ของตัวละครอกเรื่องนี้ อาจมีบางท่านแย้งว่ารูปเงาะนี้มีข้อดีอยู่เหมือนกันที่ทำให้เจ้าเงาะได้นางรจนามาเป็นคู่ครอง จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะเมื่อรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ครองนั้น รจนามองเห็นรูปทองที่อยู่ในรูปเงาะตามคำอธิษฐานของเจ้าเงาะต่างหาก ดังที่กวีบรรยายเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า
เมื่อนั้น เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน
พิศโฉมพระธิดาลาวัลย์ ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ นางในธรณีไม่มีเหมือน
แสร้งทำแลเลี่ยงเบี่ยงเบียน ให้ฟั่นเฟือนเตือนจิตคิดปอง
ขอให้ทรามสงวนนวลน้อง เห็นรูปพี่เป็นทองต้องใจรัก
เมื่อนั้น รจนานารีมีศักดิ์
เทพไทอุปถัมภ์นำชัก นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง
นางเห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน เจ้าเงาะสวมไว้ให้คนหลง
ใครใครไม่เห็นรูปทรง พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา
ชะรอยบุญเราไซร้จึงได้เห็น ต่อจะเป็นครู่ครองกระมังหนา
คิดพลางนางเสี่ยงมาลา แม้นว่าเคยสมภิรมย์รัก
ขอให้พวงมาลัยนี้ไปต้อง เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์
เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์ ผินพักตร์ทิ้งพวงมาลัยไป
(สังข์ทอง : ๑๖๖ –๑๖๗)
หากรจนามองไม่เห็น “รูปสุวรรณที่อยู่ชั้นใน” คงไม่ยอมเสี่ยงพวงมาลัยมาให้เจ้าเงาะเป็นแน่ เมื่อเจ้าเงาะถอดรูปให้รจนาเห็น รจนาพยายามทำลายรูปเงาะเพราะไม่ให้พระสังข์มีที่อำพรางตัวที่แท้จริงอีกต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้เจ้าเงาะไม่ไว้ใจรจนา เกรงว่าจะพยายามหาทางทำลายรูปเงาะของตนอีก เดือดร้อนถึงพระอินทร์ต้องมาแก้เรื่องเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูป โดยท้าท้าวสามนต์ตีคลีพนันเอาบ้านเมือง เมื่อเจ้าเงาะยอมออกไปตีคลีกับพระอินทร์ตามคำขอร้องของนางมณฑาผู้เป็นแม่ยายและรจนาผู้เป็นภรรยาทำให้เจ้าเงาะยอมถอดรูป จนแสดงความสามารถให้คนทั้งเมืองได้ประจักษ์และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นรูปโฉมที่แท้จริงว่ามีความงดงามไม่มีใครเหมือน เพราะเป็นทองไปทั้งองค์ เมื่อท้าวสามนต์เห็นครั้งแรกแสดงความชื่นชมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าในที่สุดเจ้าเงาะก็ต้องถอดรูปเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับตนเข้าร่วมในสังคมได้อย่างสนิทใจ แม้สวมรูปเงาะรจนาเองก็รังเกียจรูปเงาะ ไม่ต้องการให้พระสังข์ไว้ แต่ก็จนใจเพราะไม่อาจบังคับให้จ้าเงาะถอดรูปได้ พระอินทร์มองเห็นถึงความทุกข์ของรจนาจึงมาช่วยให้เจ้าเงาะถอดรูป อิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างลักษณะตัวละคร ในการสร้างตัวละครนั้น ผู้แต่งย่อมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางด้านสังคมและจากความต้องการของผู้แต่งเอง ดังที่ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ กล่าวเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร ไว้ในหนังสือ วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ ไว้ว่า “...ถ้าจะลองวิเคราะห์ดูตัวละครในนิพนธ์ของกวีชั้นเยี่ยม... เราจะเห็นว่านอกจากลักษณะซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลในสมัยใดชาติภาษาใด และอยู่ในชั้นวรรณะไหน ซึ่งสรุปรวมเรียกว่าลักษณะที่บ่งถึงอิทธิพลของสังคมแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษบางอย่างในตัวละครนั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะของมนุษย์ทุกกาลสมัยและทุกชาติทุกภาษา ซึ่งเป็นอิสระแก่อำนาจ สิ่งแวดล้อม และกวีนั้นเป็นฝีปากเอกหรือฝีปากพื้นๆ ก็เห็นกันได้ตรงนี้แหละ เรื่องของนักประพันธ์บางคน ชาวต่างประเทศ แม้ชาติเดียวกันแต่ต่างสมัยอ่านแล้วไม่ติดใจ เพราะนิสัยใจคอและบทบาทของตัวละครในเรื่องนั้นล้าสมัย คือถูกอิทธิพลของสมัยนั้นๆครอบงำจนเกินไป”
จากข้อความดังกล่าวเราจะสังเกตได้ว่าอิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างตัวละครพระสังข์ในเรื่องสังข์ทองนั้น มีดังต่อไปนี้ ๑. อิทธิพลทางด้านความเชื่อ
ความเชื่อเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์ยอมรับนับถือ มีทั้งสิ่งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ความเชื่อที่เกิดจากความกลัว ความเชื่อที่มนุษย์กลัวว่าตนจะเกิดทุกข์ และมีความเชื่อว่าหากทำดี พูดดีและปฏิบัติดีจะช่วยให้เกิดสุข ดังในเรื่องสังข์ทอง ตอนที่จะกำเนิดพระสังข์ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีมีความเชื่อว่าถ้าหากรักษาศีลห้า และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำความดี อาจทำให้พิธีขอพระโอรสสมปรารถนา ดังความว่า
จึงจุดธูปเทียนประทีปแล้ว เพริศแพร้วพร้อมที่ศรีใส
ทั้งสองพระองค์จำนงใน ตั้งใจบริสุทธิ์ดุษฎี
นอบน้อมพร้อมจิตพิษฐาน เดชะสมภารข้าสองศรี
ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชี โดยดีเป็นธรรม์นิรันดร์มา
ข้าไซร้ไร้บุตรสุดสวาท จะบำรุงราษฎร์ไปภายหน้า
พระเชื้อเมืองเรืองชัยได้เมตตา ขอให้เกิดบุตรายาใจ
เสร็จแล้วพระแก้วก็ไสยา ทรงศีลห้าทุกวันหาขาดไม่
ทศธรรมไม่ลำเอียงใคร ภูวนัยเข้าที่บรรทมพลัน
(สังข์ทอง : ๓๒ – ๓๓)
จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าอิทธิพลทางด้านความเชื่อนี้ถือเป็นเหตุแห่งต้นกำเนิดของตัวละครพระสังข์ที่ไดถือกำเนิดขึ้นมาเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ความเชื่อเรื่องเวรกรรม ที่พระสังข์ต้องพลัดพรากเพราะกรรมเก่าที่ทำมา ต้องหมดกรรมจึงจะได้อยู่พร้อมหน้าอย่างมีความสุข
....................... เจ้าแก้วตาของพี่ผู้มีกรรม
เจ้าเคยพรากสัตว์ให้พลัดคู่ เวรมาชูชุบอุปถัมภ์
แม้นมีกรรมไม่ไปใช้กรรม ไพร่ฟ้ามันจะทำย่ำยี
มิใช่พี่ไม่รักน้อง ร่วมห้องอกสั่นกรรแสงศรี
ไม่ยับดับสูญบุญมี เคราะห์ดีสิ้นกรรมจะเห็นกัน
(สังข์ทอง ๔๕)
ความเชื่อเรื่องเทพยดา ว่าเป็นตัวแทนของความดี และสามารถช่วยคนดีให้พ้นภัยได้นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถาดังในตอนที่พระสังข์หนีนางพันธุรัต แล้วนางพันธุรัตติดตามไป พระสังข์อธิษฐานไม่ให้นางพันธุรัตขึ้นไปได้ นางอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนต์เรียก เนื้อเรียกปลาไว้ให้ที่แผ่นศิลาเชิงเขา เรียกว่ามหาจินดามนต์ดังความว่า
อันรูปเงาะไม้เท้าเกือกแก้ว แม่ประสิทธิ์ให้แล้วดังปรารถนา
ยังมนต์บทหนึ่งของมารดา ชื่อว่ามหาจินดามนต์
ถึงจะเรียกเต่าปลามัจฉาชาติ ฝูงสัตว์จัตุบาทในไพรสณฑ์
ครุฑาเทวัญชั้นบน อ่านมนต์ขึ้นแล้วก็มาพลัน
เจ้าเรียนไว้สำหรับเมื่ออับจน จะได้แก้กันตนที่คับขัน
แม่ก็คงจะตายวายชีวัน จงลงมาให้ทันทวงที
(สังข์ทอง : ๑๒๗ – ๑๒๘)
จากความเชื่อข้างต้นส่งผลต่อลักษณะการแสดงออกของพระสังข์ คือเมื่อท้าวสามนต์รู้สึกอับอายและเสียเกียรติอย่างมากที่รจนาได้เจ้าเงาะเป็นสามี จึงวางแผนคิดฆ่าเจ้าเงาะโดยให้เขยทั้ง ๗ คนไปหาปลามาคนละ ๑๐๐ ตัว ใครได้น้อยจะถูกฆ่า พระสังข์ก็ได้ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกันดังความว่า
ครั้นอุทัยไขแสงขึ้นสางสาง พระโลมนางพลางลูบหลังไหล่
สั่งเสียรจนาด้วยอาลัย พี่จะไปสักประเดี๋ยวเที่ยวหาปลา
ว่าพลางทางจับไม้เท้าทรง ใส่เกือกแก้วแล้วลงจากเคหา
แผลงฤทธิ์เหาะเหินเดินฟ้า ตรงมายังฝั่งชลธาร
ครั้นถึงจึงลงหยุดนั่ง ที่ร่มไทรใบบังสุริย์ฉาน
ถอดเงาะซ่อนเสียมิทันนาน แล้วโอมอ่านมหาจินดามนต์
เดชะเวทวิเศษของมารดา ฝูงปลามาสิ้นทุกแห่งหน
เป็นหมู่หมู่มากมายในสายชล บ้างว่ายวนพ่นน้ำคล่ำไป
(สังข์ทอง : ๑๙๘)
เมื่อพระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกัน หกเขยจึงหาปลาไม่ได้เลย เมื่อทั้งหกเขยมาพบพระสังข์ก็สำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงขอปลาพระสังข์จึงให้ปลาคนละ ๒ ตัวโดยพระสังข์ยอมให้โดยขอแลกกับการเชือดปลายจมูกของทั้งหกเขย
๒. อิทธิพลจากค่านิยม
ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่าพึงปรารถนาต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยง เช่น ความยากจน สิ่งมีคุณค่า น่าปรารถนา หรือนำความสุขมาให้มีทั้งเป็นวัตถุและไม่เป็นวัตถุ ค่านิยมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมค่านิยมส่วนใหญ่เนื่องมาจากความเชื่อ ค่านิยมด้านความรักของพ่อแม่ มีปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งความรักของนางจันเทวีกับพระสังข์, นางพันธุรัตกับพระสังข์, ท้าวสามนต์กับธิดา ค่านิยมความกตัญญู สอนให้รู้จักสำนึกบุญคุณของผู้เลี้ยงดูมา มีปรากฏอยู่หลายตอน ทั้งพระสังข์สำนึกบุญคุณแม่จันท์เทวี หรือแม่แต่แม่บุญธรรมอย่างนางพันธุรัต ตัวอย่างเช่น
โอ้ว่ามารดาของลูกเอ๋ย พระคุณเคยปกเกล้าเกศี
รักลูกผูกพันแสนทวี เลี้ยงมาไม่มีให้เคืองใจ
จะหาไหนได้เหมือนพระแม่เจ้า ดังมารดาเกิดเกล้าก็ว่าได้
(สังข์ทอง : ๑๒๙)
๓. อิทธิพลจากสภาพสังคม
อิทธิพลจากสภาพสังคมในเรื่องสังข์ทองที่มีอิทธิพลต่อลักษณะตัวละครในเรื่องสังข์ทองก็คือ ค่านิยมสังคมในสมัยนั้นจะยอมรับผู้อื่นโดยดูจากรูปร่างหน้าตาและความสามารถ ดังตอนที่พระสังข์ อยู่ในรูปของเจ้าเงาะก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และเมื่อเมื่อรจนาเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ครองท้าวสามนต์รังเกียจเจ้าเงาะ เพราะมีหน้าตาอัปลักษณ์มีลักษณะค่อนไปทางยักษ์หรือลิงมากกว่าจะดูเป็นคน ก็ถูกท้าวสามนต์เนรเทศออกไปอยู่ปลายนา ดังความว่า
เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ชังน้ำหน้า
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา นิ่งนึกตรึกตราอยู่ในใจ
จำจะต้องเงือดงดอดกลั้น คอยหยิบผิดมันให้จงได้
คิดพลางทางสั่งเสนาใน อีรจนากูไมขอเห็นมัน
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา
(สังข์ทอง : ๑๗๐)
จะเห็นได้สังคมสมัยนั้นการยอมรับคนเข้าในสังคมจะดูที่รูปร่างหน้าตาเป็นส่วนประกอบด้วย และค่านิยมนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละคร คือ เมื่อพระสังข์อยู่ในร่างของเงาะก็จะมีลักษณะนิสัย อีกแบบหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของเงาะดังความที่ว่า
รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก ลางคนว่าแขกกะลาสี
อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง
บ้างว่าไอ้นี่ลิงทโมนใหญ่ บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง
หน้าตามันขันยิงฟันฟาง หรือจะเป็นผีสางที่กลางนา
คนหนึ่งไม่กลัวยืนหัวเราะ นี่เขาเรียกว่าเงาะแล้วสิหนา
มันไม่ทำไมใครดอกวา ชวนกันเมียงเข้ามาเอาดินทิ้ง
บ้างได้ดอดหงอนไก่เสียบไม้ล่อ ตบมือผัดพ่อล่อให้วิ่ง
ครั้นเงาะแล่นไล่โลดกระโดดชิง บ้างล้มกลิ้งวิ่งปะทะกันไปมา
(สังข์ทอง : ๑๓๑ – ๑๓๒)
เมื่อพระสังข์เป็นตัวละครเอกย่อมต้องมีรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา รูปลักษณ์ที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวของเจ้าเงาะนั้นเป็นเพียงแค่การพลางตัวของพระสังข์เท่านั้นหาใช่รูปร่างที่แท้จริงไม่ ในที่สุดเจ้าเงาะก็ต้องถอดรูปเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับตนเข้าร่วมในสังคมได้อย่างสนิทใจ แม้สวมรูปเงาะรจนาเองก็รังเกียจรูปเงาะ ไม่ต้องการให้พระสังข์ไว้ แต่ก็จนใจเพราะไม่อาจบังคับให้จ้าเงาะถอดรูปได้ พระอินทร์มองเห็นถึงความทุกข์ของรจนาจึงมาช่วยให้เจ้าเงาะถอดรูป อิทธิพลในการสร้างตัวละครอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละครที่สำคัญคือ ตัวผู้แต่ง เพราะตัวละครในวรรณคดีก็คือชีวิตมนุษย์ที่กวีได้กลั่นกรองแล้วสร้างขึ้นมานั่นเอง สรุป บทพระราชนิพนธ์ “สังข์ทอง” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นบทละครนอกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยผสมผสานความบันเทิงให้น่าติดตาม เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความอิจฉาริษยา กิเลสมนุษย์ ไสยศาสตร์ และอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ตลกชวนหัว และฉากรักโรแมนติก อีกทั้งได้สอดแทรกคติสอนใจหลายแง่มุม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตทั้งชาววังและชาวบ้าน ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ และภูมิปัญญา ของยุคสมัยนั้นตามความเป็นจริง อันก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง ทั้งยังเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าในงานวรรณกรรม ถ่ายทอดเป็นบทกลอนอันไพเราะ ซาบซึ้งกินใจ และทำให้ผู้อ่านได้รับสุภาษิตสอนใจอันเป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน นับเป็นงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ ที่เยาวชนรุ่นหลังควรศึกษา จากการศึกษาลักษณะของตัวละคร พระ สังข์ ในเรื่อง สังข์ทอง ทำให้ทราบว่าพระสังข์มีลักษณะของทวิลักษณ์ คือ มีลักษณะทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ เช่นการนำลักษณะในเชิงบวก ที่เป็นข้อคิดที่ดีงามไปยึดถือปฏิบัติ หรือนำข้อคิดจากลักษณะในเชิงลบของพระสังข์ไปเป็นบทเรียนหรือคติสอนใจ ลักษณะของพระสังข์นั้นมีปรากฏทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่เด่นชัดมากคือลักษณะในเชิงบวก เช่น การกตัญญูรู้คุณ ความสามารถใน ความฉลาดเฉลียว รอบครอบ นอกจากนี้พระสังข์ยังมีลักษณะเชิงบวกในด้านของรูปลักษณ์อีกด้วย ส่วนลักษณะในเชิงลบเช่น รูปลักษณ์ที่เป็นหอยสังข์ และรูปลักษณ์ที่เป็นเจ้าเงาะ นั้นได้ส่งผลกระทบ หรือได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวละครอื่น การศึกษาเรื่องทวิลักษณ์ของพระสังข์ ในเรื่องสังข์ทองนั้น เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทั้งในเชิงบวกและเชิงลบของพระสังข์ เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับอิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างตัวละคร สำหรับตัวละคร พระสังข์ นั้น จะเห็นว่ามีการสร้างตัวละครแบบหลายลักษณะที่มีความสมจริง คือมีทั้งลักษณะเชิงบวกละเชิงลบซึ่งมีความขัดแย้งกันเหมือนกับมนุษย์จริงๆที่มีทั้งดีและเลว อย่างไรก็ตาม ลักษณะของพระสังข์ ตัวละครเอกในเรื่องสังข์ทอง ก็สามารถนำเอามาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ คือนำสิ่งที่ดีในเชิงบวกมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน และนำส่วนที่ไม่ดีในเชิงลบมาเป็นข้อคิดและคติเตือนใจ อิทธิพลในการสร้างตัวละครอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละครที่สำคัญคือ ตัวผู้แต่ง เพราะตัวละครในวรรณคดีก็คือชีวิตมนุษย์ที่กวีได้กลั่นกรองแล้วสร้างขึ้นมานั่นเอง
ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง (ต่อ)
การวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมของตัวละครทำให้ค้นพบว่า ในวรรณคดีโบราณซึ่งเป็นเรื่องแต่งเล่นหรือเรื่องที่มีเค้าโครงมาจากชาดก มีคุณค่าสูงควรยกย่องเป็นอย่างยิ่ง คือ มีเนื้อหาที่แฝงไปด้วยข้อคิด คติต่างๆ สามารถบันทึกหรือบรรยายเหตุการณ์ความเป็นไป บทบาท พฤติกรรม ตลอดจนบุคลิกลักษณะของตัวละครได้อย่างละเอียดทุกแง่ เป็นการแสดงว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะสมจริง พระสังข์ ตัวละครเอกของเรื่อง แม้จะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ตามลักษณะของพระเอกในวรรณคดีหลาย ๆเรื่องที่ตัวละเอกมักจะเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ แต่พระสังข์ก็เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีที่ให้มีความสมจริงมาก ซึ่งผู้แต่งใช้กลวิธีการนำเสนอ และการสร้างตัวละครตัวนี้ทุกรูปแบบเพื่อให้สมจริงและอยู่ในอุดมคติ การสร้างให้สมจริงจะสร้าง แบบใกล้เคียงความเป็นจริง เช่น ให้พระสังข์มีลักษณะเหมือนบุคคลธรรมดาที่มีทั้งลักษณะในเชิงบวกและลักษณะในเชิงลบ ส่วนการสร้างตัวละครให้อยู่ในอุดมคติจะเน้นลักษณะที่งดงาม มีความสามารถ กตัญญู และเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ฉลาดและรอบคอบ ในเวลาเดียวกันวรรณคดีเรื่องสังข์ทองก็เป็นบทละครนอกที่มุ่งการดำเนินเรื่องที่เน้นความสนุกสนาน ตลกขบขัน ดำเนินเรื่องรวดเร็ว เป็นบทละครนอกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยผสมผสานความบันเทิงให้น่าติดตาม เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความอิจฉาริษยา กิเลสมนุษย์ ไสยศาสตร์ และอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ตลกชวนหัว และฉากรักโรแมนติก อีกทั้งได้สอดแทรกคติสอนใจหลายแง่มุม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตทั้งชาววังและชาวบ้าน ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ และภูมิปัญญา ของยุคสมัยนั้นตามความเป็นจริง ลักษณะของพระสังข์นั้นมีปรากฏทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่เด่นชัดมากคือลักษณะในเชิงบวก เพราะพระสังข์เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความสามารถ ความรอบครอบเฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ เป็นต้น ส่วนในเชิงลบนั้นกล่าวว่าพระสังข์มีอีกสองรูปลักษณ์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนั้นทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทองสามารถแบ่งออกได้ ๒ ประเด็นคือ ลักษณะในเชิงบวก และลักษณะในเชิงลบ
ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์
ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความสามารถความรอบครอบเฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ซึ่งสามารถแยกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้
๑. ด้านรูปลักษณ์
โดยทั่วไปตัวละครเอกในวรรณคดีไทยไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกฝ่ายชายหรือตัวละครเอกฝ่ายหญิงมักมีรูปลักษณ์ที่งดงามเป็นที่พึงใจแก่เพศตรงข้ามหรือแก่ผู้พบเห็นมากกว่าที่จะไม่งดงามหรือเป็นที่น่ารังเกียจ ผู้อ่านจะนึกเห็นรูปดังกล่าวได้จากการพรรณนาความงามของกวีหรือการพรรณนาความงามผ่านตัวละครอื่นในเรื่อง ซึ่งมักจะดำเนินตามขนบการแต่งวรรณคดีไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ พระสังข์ ก็มีรูปลักษณ์ที่งดงาม ไม่แพ้ตัวเอกในวรรณคดีเรื่องอื่น ดังในบทประพันธ์ตอนที่นางรจนาเห็นพระสังข์ถอดรูป ดังความว่า ................. เห็นรูปงามก็ตะลึงหลงใหล
น้อยหรือถอดเงาะเหมาะสุดใจ เนื้อหนังช่างกระไรราวกับทอง
หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา นงเยาว์กระหยิ่มยิ้มย่อง
คิดไว้ก็สมอารมณ์ปอง บริสุทธิ์ผุดผ่องผิวพรรณ
งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า ดูดังเทวาบนสวรรค์
..................... ................. (สังข์ทอง : ๑๘๐)
ในบทประพันธ์ตอนที่นางมณฑาเห็นพระสังข์ถอดรูป ดังความว่า
เมื่อนั้น นางมณฑาแลดูไม่รู้จัก
คิดว่าเทวาสุรารักษ์ อกใจทึกทักให้ครั่นคร้าม
นางนบนอบมอบกรานกราบไหว้ ลูกสาวยุดฉุดไว้แล้วร้องห้าม
พระมารดานิ่งอยู่ไม่รู้ความ ลูกเขยถอดเงาะงามไร
นางมณฑาว่าอ่อกระนั้นหรือ แม่คนซื่อสำคัญว่ามิใช่
ลูกเขยข้าถอดเงาะเหมาะเหลือใจ นางลูบไหล่ลูบหลังนั่งมอง
น้อยหรือน่ารักเป็นนักหนา หน้าตาจิ้มลิ้มยิ้มย่อง
สอดใส่เครื่องประดับก็รับรอง ผิวพรรณผุดผ่องดังทองทา (สังข์ทอง : ๒๖๕)
๒. กตัญญูกตเวที
พระสังข์ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูดังตอนที่นางจันท์เทวีมารดาของพระสังข์เข้าป่าไปหาของป่าพระสังข์ได้ออกจากหอยสังข์มาช่วยงานต่าง ๆ ดังความว่า
เมื่อนั้น พระสังข์ซ่อนอยู่ก็รู้สิ้น
พระแม่ไปป่าเป็นอาจิณ ในจิตคิดถวิลทุกเวลา
จะใคร่ออกช่วยพระแม่เจ้า สงสารผ่านเกล้าเป็นหนักหนา
เหนื่อยยากลำบากกายา กลับมาจนค่ำแล้วร่ำไร
ไม่ว่าลูกน้อยเป็นหอยปู อุ้มชูชมชิดพิสมัย
พระคุณล้ำลบภพไตร จะออกให้เห็นตัวก็กลัวการ
ไก่ป่าพาฝูงมากินข้าว ของพระแม่เจ้าอยู่ฉาวฉาน
คุ้ยเขี่ยเรี่ยรายทั้งดินดาน พระมารดามาเห็นจะร่ำไร
เยี่ยมลอดสอดดูทั้งซ้ายขวา จะเห็นใครไปมาก็หาไม่
ออกจากสังข์พลันทันใด ฉวยจับไม้ได้ไล่ตี
(สังข์ทอง : ๕๑- ๕๒)
๓. ความสามารถ รอบครอบ เฉลียวฉลาด
พระสังข์เป็นตัวละครที่มีความเฉลียวฉลาดดังตอนที่นางพันธุรัตสั่งห้ามไม่ให้พระสังข์เข้าไปในเขตต้องห้าม ด้วยความสงสัยพระสังข์จึงลอบเข้าไปในเขตต้องห้ามดังความว่า
ห้ามไว้มิให้ไปครัวไฟ อะไรจะมีอยู่ที่นั่น
ลับตาสาวใช้ลอบไปพลัน ได้เห็นสำคัญในทันที
(สังข์ทอง : ๑๐๘)
เมื่อพระสังข์รู้ว่าตนอยู่ในเมืองยักษ์จึงวางแผนที่จะหนีออกจากเมืองยักษ์อย่างรอบครอบ ดังความว่า ครั้นกลางคืนดื่นดึกเดือนเที่ยง เห็นพี่เลี้ยงหลับสนิทถ้วนหน้า
ค่อยย่องลงจากเตียงเมียงออกมา จากห้องไสยาทันที
ลอบลงชุบองค์ในบ่อทอง ผิวเนื้อนวลละอองผ่องศรี
เป็นทองคำธรรมชาติชาตรี สมถวิลยินดีอย่างใจคิด
แล้วขึ้นไปบนปราสาทชัย ที่ไว้รูปเงาะศักดิ์สิทธิ์
หยิบขึ้นแลเล็งเพ่งพิศ ขุกคิดขึ้นมาก็อาลัย (สังข์ทอง : ๑๑๙)
ตอนที่ท้าวยศวิมลแกล้งให้พระสังข์หาเนื้อหาปลาพระสังข์ก็สามารถหาเนื้อหาปลามาได้ดังความว่า ครั้นอุทัยไขแสงขึ้นสางสาง พระโลมนางพลางลูบหลังไหล่
สั่งเสียรจนาด้วยอาลัย พี่จะไปสักประเดี๋ยวเที่ยวหาปลา
ว่าพลางทางจับไม้เท้าทรง ใส่เกือกแก้วแล้วลงจากเคหา
แผลงฤทธิ์เหาะเหินเดินฟ้า ตรงมายังฝั่งชลธาร
ครั้นถึงจึงลงหยุดนั่ง ที่ร่มไทรใบบังสุริย์ฉาน
ถอดเงาะซ่อนเสียมิทันนาน แล้วโอมอ่านมหาจินดามนต์
เดชะเวทวิเศษของมารดา ฝูงปลามาสิ้นทุกแห่งหน
เป็นหมู่หมู่มากมายในสายชล บ้างว่ายวนพ่นน้ำคล่ำไป (สังข์ทอง : ๑๙๘)
ฝ่ายหกเขยนั้นไม่สามารถที่จะหาเนื้อหาปลาได้เลย เมื่อเห็นพระสังข์นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ก็คิดว่าพระสังข์เป็นเทวดาจึงมาขอให้พระสังข์ช่วย ดังความว่า
ปลาผักสักตัวก็ไม่ได้ คิดอัศจรรย์ใจเป็นหนักหนา
รีบพายมาจนถึงบึงปลายนา พบมัจฉานับแสนแน่นไป
เห็นพระสังข์นั่งอยู่ที่ฝั่งชล ต่างคนพิศวงสงสัย
จะเป็นเทพารักษ์หรืออะไร เถียงกันวุ่นไปทั้งไพร่นาย
จึงวาดแวะนาวาเข้ามาพลัน ทั้งหกอกสั่นขวัญหาย
ต่างก้มกรานหมอบยอบกาย บ่าวนายนึกคะเนว่าเทวา
เมื่อนั้น พระสังข์นั่งยิ้มอยู่ในหน้า
เห็นหกเขยเคอะเซอะมา สมดังจินดาก็ยินดี
จึงเสแสร้งทำไม่รู้จัก ถามทักซักไซ้ไปไหนนี่
เอะแล้วออเจ้าเหล่านี้ หน่วยก้านพานจะดีมีฝีมือ
เรือแพแหอวนก็เอามา จะลอบลักดักปลาของข้าหรือ
เราเป็นเทพเจ้าเล่าลือ นับถือทุกแห่งแพร่งพราย
แต่หักคอคนตายเสียหลายพัน อย่าดุดันดูหมิ่นมักง่าย
มาหาเรานี้ดีหรือร้าย บอกยุบลต้นปลายให้แจ้งใจ
เมื่อนั้น ทั้งหกอกสั่นหวั่นไหว
สำคัญจิตคิดว่าพระไพร กราบไหว้ท่วมหัวกลัวฤทธา
ใจคอทึกทึกนึกพรั่น ปากสั่นเสียงสั่นซังตายว่า
ท่านท้าวสามนต์ผู้พ่อตา ให้หาปลาประกวดกับอ้ายเงาะ
ข้าทอดแหแปรช้อนแต่เช้าตรู่ ออกอ่อนหูหิวหอบเที่ยวรอบเกาะ
ไม่ได้ปลาสักหน่อยชะรอยเคราะห์ ฉวยแพ้อ้ายเงาะซิน่าอาย
กลัวท้าวพ่อตาจะฆ่าเสีย สงสารแต่เมียจะเป็นม่าย
เทวดาเลี้ยงปลาไว้มากมาย ข้าขอไปถวายพอรอดตัว (สังข์ทอง : ๒๐๐)
พระสังข์รับปากว่าจะแบ่งปลาให้แต่ต้องแลกกับปลายจมูกของทั้งหกเขยดังความว่า เมื่อนั้น พระสังข์กล่าวแกล้งแจ้งประจักษ์ เราเป็นเทวดาสุรารักษ์ จะเซ่นวักสิ่งของไม่ต้องใจ จะขอปลายจมูกหม่อมลูกเขย ตามเคยคนละน้อยหามากไม่ แม้นให้เราเราจะให้ปลาไป จะให้หรือมิให้ให้ว่ามา
เมื่อนั้น หกเขยได้ฟังนั่งปรึกษา
ชิชะเจ้าเล่ห์เทวดา จะเอาปลาแลกปลายจมูกคน
แม้นเชือดเสียเมียเห็นจมูกด้วน จะทำกระบวนผินหลังนั่งบ่น
ซองสำคัญหนักหนาเข้าตาจน จะผ่อนปรนแก้ไขอย่างไรดี
บ้างว่าอย่าพักประดักประเดิด ทนเจ็บเอาเถิดไม่จู้จี้
หาปลาที่ไหนก็ไม่มี อ้ายเงาะดีหาได้สิอายมัน
นั่งนิ่งก้มหน้าดูตากัน เชือดเสียเห็นวันจะได้ไป
ต่างยอมพร้อมใจไม่กลัวเจ็บ ฉวยได้มีดเหน็บของบ่าวไพร่
ยื่นให้เทวัญทันใด ทอดถอนใจใหญ่ย่อท้อ
เมื่อนั้น พระสังข์สรวลสันต์กลั้นหัวร่อ
ยิ้มพลางทางตรัสตัดพ้อ เอออะไรใจคอเหมือนปลาซิว
แล้วเอามีดกรีดลักกับศิลา ทั้งหกตกประหม่าหน้านิ่ว
มือบีบหนีบจมูกไว้สองนิ้ว อย่าบิดพลิ้วดุดดิกพลิกแพลง
ทำเงื้อมีดกกระหยับจับจ้อง ที่ใจชั่วกลัวร้องจนเสียงแห้ง
เอาแล้วนะฉะเชือดเลือดแดง จมูกแหว่งโหว่วิ่นสิ้นทุกคน
(สังข์ทอง : ๒๐๑ – ๒๐๒)
๔. มีบุญญาธิการ
พระสังข์เป็นตัวละครอกที่มีบุญญาธิการมากเห็นได้จากตอนกำเนิดพระสังข์ จะเห็นได้ว่าพระสังข์เป็นเทวดาที่ลงมาจุติในครรภ์ของนางจันท์เทวี ดังความว่า
มาจะกล่าวบทไป สุราลัยในดาวดึงส์สวรรค์
เมื่อผลจะสิ้นพระชนม์นั้น อัศจรรย์ร้อนรนเป็นพ้นไป
รัศมีศรีตนก็หม่นหมอง สิ่งของของตัวก็มัวไหม้
เทวาตระหนกตกใจ แจ้งในพระทัยจะวายชนม์
แล้วจึงตรึกตรองส่องเนตร แจ้งใจในเหตุเภทผล
พระเจ้าท้าวยศวิมล เสสรวงบวงบนแก่เทวัญ
เทวาจะมานิมนต์เรา ให้พรากจากดาวดึงส์สวรรค์
อย่าเลยจะจุติพลัน อย่าให้เทวัญทันนิมนต์
ลงไปเกิดในมนุสสา แสวงหาศิลทานการกุศล
คิดแล้วกลั้นใจให้วายชนม์ ปฏิสนธิ์ยังครรภ์กัลยา
(สังข์ทอง : ๓๓)
ตอนที่นางจันทาทูลท้าวยศวิมลยุยงว่านางจันท์เทวีมีลูกชายมาอยู่ด้วยคนหนึ่งในป่าน่าจะเป็นลูกชู้ นำความเสื่อมเสียมาแก่ท้าวยศวิมล ให้ประหารพระสังข์เสีย ท้าวยศวิมลหลงเชื่อ สั่งประหารพระโอรสของตนแต่ด้วยบุญญาธิการของพระสังข์ จะฆ่าอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ตาย ดังความว่า
ว่าพลางทางปูผ้าผ่อน ขับต้อนคนผู้ไม่อยู่ใกล้
ล่อลวงหลอกหลอนให้นอนไป หมายใจเสนาจะฆ่าตี
อาเพศด้วยเดชกุมารา เทวารักษาพระไทรศรี
ออกช่วยป้องกันทันที เมื่อเสนีมันทุบด้วยท่อนจันทน์
(สังข์ทอง : ๗๖)
เมื่อท้าวยศวิมลทรงทราบว่าพระโอรสมิใช่หอยสังข์แต่เป็นพระกุมารที่มีบุญญาธิการ ท้าวเธอก็จะให้รับพระโอรสและนางจันท์เทวีกลับวัง แต่ถูกนางจันทาทัดทานไว้ และในที่สุดนางจันทาเสนอให้เอาไปถ่วงน้ำจมหายไปต่อหน้าพระมารดา ด้วยบุญของพระสังข์ ถูกหินถ่วงจมลงไปตรงปล่องนาคาอันเป็นประตูสู่เมืองบาดาล พญานาคคือท้าวภุชงค์มาพบเห็นพระสังข์นอนสลบอยู่ จึงนำไปเลี้ยง แต่เห็นว่าจะเลี้ยงกันไม่สะดวกเพราะตนเป็นนาค จึงส่งพระสังข์ไปให้เพื่อนรักคือนางพันธุรัตเลี้ยงดู ดังความว่า
เมื่อนั้น ท้าวภุชงค์สงสารเป็นนักหนา
ได้ฟังทั้งนางนาคา เสน่หาฟักฟูมอุ้มองค์
บุญญาธิการก็มากมี จึงเข่นฆ่าร้าตีไม่ผุยผง
แกล้งเดือดฉันท์กันเป็นมั่นคง ยุยงชิงชังว่าจังไร
อยู่ด้วยแม่เถิดจะเลี้ยงเจ้า ร่วมวันขวัญข้าวอย่าโหยไห้
ชนนีเจ้านั้นไม่บรรลัย นานไปจะพบประสบกัน
(สังข์ทอง : ๙๕)
วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552
อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี
อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา พื้นที่ป่าอยู่ในส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบด้วย ภูเขาภูเล็กภูน้อยมากมาย เช่น ภูจองนายอย ภูจองน้ำซับ ภูจอง ภูจันทร์แดง ภูพลานสูง ภูพลานยาว เป็นต้น มีสภาพป่าสมบูรณ์ สภาพธรรมชาติที่สวยงามและมีสัตว์ป่าชุกชุม มีเนื้อที่ประมาณ 686 ตารางกิโลเมตร หรือ 428,750 ไร่ ส่วนใหญ่บริเวณป่าภูจอง-นายอยจะเป็นเทือกเขาแหล่งต้นน้ำของลำน้ำลำห้วยที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ ส่วนมากดินจะเป็นดินลูกรังปะปนหินปูนตามบริเวณที่ราบบนเนินเขา และประกอบด้วยลานหินลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนหน้าผา เช่น ผาผึ้งร้อยละ 75 โดยเฉลี่ยประกอบด้วยไม้พื้นล่างขึ้นหนาแน่น ได้แก่ จำปาป่า และพรรณไม้ดอกต่าง ๆ แซมเป็นไม้พื้นล่างให้กับไม้ยืนต้นจำพวกตะเคียนทอง ประดู่ ยาง กระบาก ปู่จ้าว พยุง มะค่าแกแล เป็นต้น ขึ้นแยกอยู่ตามสภาพป่า น้ำตกบักเตว หรือ น้ำตกห้วยหลวง มีขนาดใหญ่พอสมควร มีผาน้ำกระโจนตกจากแอ่งสู่เวิ้งเบื้องล่างสูงราว 40 เมตร แบ่งเป็น 3 ชั้น มีทางขึ้นลงธรรมชาติ เพื่อชมและเล่นน้ำบริเวณอ่างน้ำด้านล่างได้สะดวก จุดชมทิวทัศน์ บริเวณผาผึ้งอยู่ถัดจากพลานยาวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สามารถชมทิวทัศน์สวยงามตามแนวชายแดนกัมพูชาประชาธิปไตย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยที่ชะง่อนผามีถ้ำขนาดย่อย ๆ หินสวยงามและรังผึ้งขนาดใหญ่ให้ชม สวนหินพลานยาว มีกลุ่มหินรูปร่างลักษณะน่าพิศวงเป็นกลุ่มขึ้นอยู่งดงาม บริเวณกว้างหลาย ๆจุด สามารถจัดเป็นแหล่งสันทนาการที่สำคัญของป่าภูจอง-นายอยอีกแห่งหนึ่ง
วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552
ทวิลักษณ์ของพระสังข์ ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของ ทวิลักษณ์ว่า
ทวิ หมายถึง สอง
ลักษณ์ หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว , ลักษณะ
ดังนั้นคำว่าทวิลักษณ์ จึงหมายถึง สองลักษณะ หรือ ลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งๆหนึ่งที่มีสองแบบซึ่งประกอบไปด้วยด้านสอง ด้านที่มีความแตกต่างกัน หรือตรงข้ามกัน และการรักษาสมดุลระหว่างทั้งสองด้านนั้นเพื่อสร้างระเบียบให้กับสรรพสิ่ง ในวรรณคดีไทยนั้นการใช้ทวิลักษณ์จะใช้ในเรื่องของการสร้างตัวละคร คือตัวละครทุกตัวย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อความสมจริงและความสนุกสนานของเรื่อง
ในวรรณคดีประเภทต่างๆย่อมมีตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะและบทบาทที่แตกต่างกันออกไป การศึกษาบุคลิกลักษณะของตัวละครคือการศึกษาถึงพฤติกรรมของตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านมองเห็นหรือเข้าใจตัวละครตัวนั้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้อ่านวรรณคดีได้รสมากขึ้น และยังอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดของผู้แต่งที่แฝงไว้ในเรื่องด้วย บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กล่าวถึงความสำคัญของลักษณะนิสัยของตัวละครไว้ว่า
“ ลักษณะนิสัยของตัวละครเป็นเนื้อหาสำคัญที่สุดอันหนึ่งของหนังสือและความสนใจ ของคนอ่านส่วนใหญ่ที่มีความนึกคิดพอสมควร ก็มักขึ้นต่ออุปนิสัยของตัวละครลักษณะนิสัยไม่เหมาะใจผู้อ่านหนังสือเรื่องนั้นก็มักจะไม่ดึงดูดความสนใจไปได้นาน ในการพิจารณาลักษณะนิสัยตัวละคร ควรตั้งแนวดังนี้ ตัวละครตัวไหนสำคัญแก่เนื้อเรื่อง หรือแก่ความคิดเห็นและปรัชญาของผู้ประพันธ์ มีตัวละครตัวไหนในเรื่องนั้นทำให้เนื้อเรื่อง มีรสขึ้นในทางใด ตัวใดควรถือเป็นตัวเอกเกี่ยวเนื่องกับชื่อเรื่องหรือไม่ ”
ลักษณะนิสัยตัวละครในนวนิยายเท่าที่ปรากฏมีสองลักษณะ คือ ประเภทน้อยลักษณะ (Flat character) และประเภทหลายลักษณะ (round character) ตัวละครน้อยลักษณะคือตัวละครที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของความคิด หรือคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้อ่านสามารถทำความรู้จัก และจดจำตัวละครประเภทนี้ได้ง่าย
ความหมายของตัวละครในวรรณกรรมมีอยู่สองระดับ คือ ระดับแรกตัวละครคือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่อง ความหมายระดับที่สองคือ คุณลักษณะของตัวละคร เช่น รูปร่างหน้าตา หรือ คุณสมบัติพิเศษทางศีลธรรม แต่โดยทั่วไปแล้วตัวละครในเรื่องเล่าหมายถึงผู้มีบทบาทในท้องเรื่องและเหตุการณ์ ต่าง ๆ นั่นเองการที่ตัวละครปรากฏในเรื่องในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีของผู้แต่ง กลวิธีวิเคราะห์การนำเสนอตัวละคร อาจทำโดยใช้การสังเกตในด้านลักษณะรูปร่าง หน้าตา ลักษณะการพูดจา บทสนทนา พฤติกรรมซึ่งหมายถึงการกระทำต่าง ๆ ความรู้สึกนึกคิด ปฏิกิริยา จากตัวละครอื่น
พระสังข์ ในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ที่ผู้เขียนนำมาศึกษา จะเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก เพราะพระสังข์เป็นตัวละครเอกที่มีบทบาทต่อการดำเนินไปของเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง พฤติกรรมด้านต่างๆรวมทั้งการแสดงออกของตัวละครตัวนี้จะส่งผลกระทบในแง่ต่าง ๆ กับตัวละครอื่น อีกทั้งพระสังข์ยังเป็นตัวละครเอกของเรื่องที่มีหลายลักษณะทั้งลักษณะในเชิงบวกและลักษณะในเชิงลบ ลักษณะในเชิงบวกจะเป็นพฤติกรรมที่ดีของพระสังข์ ส่วนเชิงลบนั้นจะแสดงให้เห็นลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ของพระสังข์ ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ เป็นต้น ส่วนลักษณะในเชิงลบนั้นพระสังข์ถึงแม้จะเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ก็ยังมีลักษณะในเชิงลบที่ส่งผลให้ตัวละครอื่นในเรื่องได้รับความเดือดร้อน หรือเป็นทุกข์จากการกระทำของพระสังข์ได้เช่นเดียวกันลักษณะนิสัยที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบลบของตัวละครทำให้ตัวละครพระสังข์มีความน่าสนใจมาก ผู้เขียนจึงนำพระสังข์มาศึกษาในเรื่องของลักษณะในเชิงบวกและเชิงลบ ภายใต้ชื่อบทความว่า ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง
ภูมิหลังของตัวละคร
พระสังข์เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง เป็นโอรสของท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวี ก่อนที่พระสังข์จะประสูติ ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีไม่มีโอรสธิดา จึงบวงสรวงและรักษาศีลห้าเพื่อขอบุตร และประกาศแก่พระมเหสีและทางสนมว่าถ้าใครมีโอรสก็จะมอบเมืองให้ครอง
กล่าวถึงเทวดาองค์หนึ่งในชั้นดาวดึงส์เกิดความร้อนรุ่ม รัศมีหม่นหมอง สิ่งของเครื่องใช้หม่นไหม้ เทวดาองค์นั้นรู้ว่าตนใกล้วายชนม์ เมื่อส่องตาทิพย์ดูในโลกมนุษย์ ก็รู้ว่าท้าวยศวิมลบวงสรวงเทวดาขอพระโอรส เหล่าเทวดาจึงมาทูลขอให้จุติจากสวรรค์ เทวดาองค์นั้นจึงดำริว่าจะไม่รอให้เทวดาองค์อื่นมาเชิญ แต่จะจุติลงมาเกิดในครรภ์ของมนุษย์เพื่อแสวงบุญ
มาจะกล่าวบทไป สุราลัยในดาวดึงส์สวรรค์
เมื่อผลจะสิ้นพระชนม์นั้น อัศจรรย์ร้อนรนเป็นพ้นไป
รัศมีศรีตนก็หม่นหมอง สิ่งของของตัวก็มัวไหม้
เทวาตระหนกตกใจ แจ้งในพระทัยจะวายชนม์
แล้วจึงตรึกตรองส่องเนตร แจ้งใจในเหตุเภทผล
พระเจ้าท้าวยศวิมล เสสรวงบวงบนแก่เทวัญ
เทวาจะมานิมนต์เรา ให้พรากจากดาวดึงส์สวรรค์
อย่าเลยจะจุติพลัน อย่าให้เทวัญทันนิมนต์
ลงไปเกิดในมนุสสา แสวงหาศิลทานการกุศล
คิดแล้วกลั้นใจให้วายชนม์ ปฏิสนธิ์ยังครรภ์กัลยา
(สังข์ทอง : ๓๓)
คืนหนึ่งท้าวยศวิมลทรงสุบินด้วยเทพสังหรณ์ว่าจะได้พระโอรส เมื่อสะดุ้งตื่นบรรทมตอนเช้ามืด พระองค์ทรงให้เสนาตามโหรหลวงมาเฝ้า พระองค์ทรงเล่าว่าทรงสุบินว่า พระอาทิตย์ตกลงหน้าพระพักตร์ทางทิศใต้ และมีดาวดวงน้อยตกลงบนดินด้วย พระหัตถ์ซ้ายคว้าดวงดาวไว้ พระหัตถ์ขวาคว้าดวงอาทิตย์ แต่ดวงอาทิตย์หายไป ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยมาก ต่อมาจึงได้คืน โหรหลวงได้ทำนายพระสุบินว่า พระมเหสีจะประสูติพระโอรสผู้มีบุญญาธิการมาก แต่จะพลัดพรากจากวังเป็นเวลานานกว่าจะเสด็จคืนเมือง ส่วนนางในจะให้กำเนิดพระธิดา ท้าวยศวิมลจะทรงเป็นทุกข์โศกเศร้า แต่ในที่สุดเมื่อพระโอรสเสด็จคืนเมืองจะทรงเกษมสำราญ
เมื่อนางจันท์เทวีทรงครรภ์พระนางมีสิริโฉมงดงามขึ้นทุกวัน เมื่อนางจันท์เทวีทรงครรภ์ครบ ๑๐เดือนใกล้เวลาประสูติ ทรงปวดพระครรภ์แทบจะสิ้นชีวิตจนร้องครวญคราง เหล่านางในที่ดูแลต่างแปลกใจที่พระนาภีแข็ง ไม่มีเด็กดิ้น คลำพบวัตถุกลม ๆ กลิ้งอยู่ภายใน นางในรีบกราบทูลให้ท้าวยศวิมลให้ทรงทราบ ท้าวยศวิมลรีบเสด็จด้วยความตื่นเต้นยินดี แต่เนื่องจากผลกรรมที่นางจันท์เทวีต้องจากราชบัลลังก์ พอได้เวลาก็ทรงคลอดพระโอรสซึ่งกำบังกายอยู่ในหอยสังข์
เมื่อนั้น มเหสีป่วนปั่นพระครรภ์เจ้า
มิได้วายว่างบางเบา เจ็บราวกับเขาผูกคร่าร้า
เป็นกรรมตามทันมเหสี จะจากที่สมบัติวัตถา
ยามปลอดก็คลอดพระลูกยา กุมารากำบังเป็นสังข์ทอง
(สังข์ทอง : ๓๙)
นางจันทาเกิดความริษยา จึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะท้าวยศวิมลหลงเชื่อนางจันทา จึงเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยตายายชาวไร่ ช่วยงานตายายเป็นเวลา ๕ ปี พระโอรสในหอยสังข์แอบออกมาช่วยทำงาน
เมื่อนั้น พระสังข์ซ่อนอยู่ก็รู้สิ้น
พระแม่ไปป่าเป็นอาจิณ ในจิตคิดถวิลทุกเวลา
จะใคร่ออกช่วยพระแม่เจ้า สงสารผ่านเกล้าเป็นหนักหนา
เหนื่อยยากลำบากกายา กลับมาจนค่ำแล้วร่ำไร
ไม่ว่าลูกน้อยเป็นหอยปู อุ้มชูชมชิดพิสมัย
พระคุณล้ำลบภพไตร จะออกให้เห็นตัวก็กลัวการ
ไก่ป่าพาฝูงมากินข้าว ของพระแม่เจ้าอยู่ฉาวฉาน
คุ้ยเขี่ยเรี่ยรายทั้งดินดาน พระมารดามาเห็นจะร่ำไร
เยี่ยมลอดสอดดูทั้งซ้ายขวา จะเห็นใครไปมาก็หาไม่
ออกจากสังข์พลันทันใด ฉวยจับไม้ได้ไล่ตี
(สังข์ทอง : ๕๑- ๕๒)
เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย พระสังข์เห็นเช่นนั้นก็ร้องไห้รำพัน และนางจันท์เทวีเลี้ยงพระสังข์มาด้วยความรัก
ฝ่ายท้าวยศวิมลเศร้าพระทัย เพราะอาลัยอาวรณ์นางจันท์เทวีมาก นางจันทาสังเกตเห็นงุ่นง่านใจกลัวจะไม่ได้เป็นใหญ่ จึงให้ยายเฒ่าสุเมธามาทำเสน่ห์ให้ท้าวยศวิมลหลงรักและทูลยุยงว่านางจันท์เทวีมีลูกชายมาอยู่ด้วยคนหนึ่งในป่าน่าจะเป็นลูกชู้ นำความเสื่อมเสียมาแก่ท้าวยศวิมล ให้ประหารพระสังข์เสีย ท้าวยศวิมลหลงเชื่อ สั่งประหารพระโอรสของตนแต่ด้วยบุญญาธิการของพระสังข์ จะฆ่าอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ตาย
เมื่อท้าวยศวิมลทรงทราบว่าพระโอรสมิใช่หอยสังข์แต่เป็นพระกุมารที่มีบุญญาธิการ ท้าวเธอก็จะให้รับพระโอรสและนางจันท์เทวีกลับวัง แต่ถูกนางจันทาทัดทานไว้ และในที่สุดนางจันทาเสนอให้เอาไปถ่วงน้ำจมหายไปต่อหน้าพระมารดา ด้วยบุญของพระสังข์ ถูกหินถ่วงจมลงไปตรงปล่องนาคาอันเป็นประตูสู่เมืองบาดาล พญานาคคือท้าวภุชงค์มาพบเห็นพระสังข์นอนสลบอยู่ จึงนำไปเลี้ยง แต่เห็นว่าจะเลี้ยงกันไม่สะดวกเพราะตนเป็นนาค จึงส่งพระสังข์ไปให้เพื่อนรักคือนางพันธุรัตเลี้ยงดู
สารท้าวภุชงค์ทรงศักดิ์ คิดถึงแม่รักยักษา
แต่สหายวายปราณนานมา ชั่วช้ามิได้มาเยี่ยมเยือน
องค์ท้าวกุมภัณฑ์ที่บรรลัย ความสมัครรักใคร่ใครจะเหมือน
เจ้าน้อยใจที่ไม่เยี่ยมเยือน รักเจ้าเท่าเทียมเหมือนกัน
เป็นหญิงครองเมืองมณฑล เสนีรี้พลจะเดียดฉันท์
เราไซร้ได้บุตรบุญธรรม์ มนุษย์จ้อยน้อยนั้นถือสารไป
เจ้าจงเลี้ยงไว้เป็นลูกรัก เราเห็นบุญหนักศักดิ์ใหญ่
จะได้ครอบครองพระเวียงชัย เลี้ยงไว้ค้ำชูแทนหูตา
(สังข์ทอง : ๑๐๐)
นางพันธุรัตเป็นยักษ์ สามีเสียชีวิตแล้ว นางเลี้ยงพระสังข์ด้วยความรักอย่างจริงใจนางพันธุรัตและพี่เลี้ยงแปลงเป็นมนุษย์เลี้ยงพระสังข์มาจนอายุ ๑๕ ปี นางพันธุรัตห้ามขาดไม่ให้พระสังข์เข้าไปที่หวงห้ามแห่งหนึ่ง แต่วันหนึ่งเมื่อนางพันธุรัตไปหากินตามปกติ พระสังข์ก็แอบเข้าไปที่นั่น ไปพบซากโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง เสือ กวาง พบบ่อปิดบ่อหนึ่งเป็น บ่อเงิน อีกบ่อ เป็นบ่อทอง มีรูปเงาะ เกือกแก้วและไม้เท้า เมื่อลองสวมชุดเงาะและเกือกแก้วดูก็ สามารถเหาะไปมาได้ พระสังข์จึงวางแผนหลบหนีนางพันธุรัตเพื่อจะไปหาพระมารดา แล้ววันหนึ่งพระสังข์ก็ลงชุบตัวในบ่อทองแล้วสวมรูปเงาะจะเหาะหนีไป
นางพันธุรัตติดตามไป พระสังข์อธิษฐานไม่ให้นางพันธุรัตขึ้นไปได้ นางอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนต์เรียก เนื้อเรียกปลาไว้ให้ที่แผ่นศิลาเชิงเขา เรียกว่ามหาจินดามนต์ นางพันธุรัตร้องไห้อ้อนวอนพระสังข์จนกระทั่งอกแตกตายด้วยความอาลัยรักพระสังข์ ซึ่งขณะนั้นพระสังข์ก็สับสน ไม่เชื่อในคำของนาง พระสังข์ลงมาจัดการเรื่องศพพระมารดา โดยสั่งไพร่พลให้จัดการใส่พระเมรุ พระสังข์ก็ท่องมนต์ แล้วเหาะไปจนถึงเมืองท้าวสามนต์
พระสังข์ในรูปเงาะเห็นนางรจนาก็พอใจในความงามของนาง จึงอธิษฐานให้นางเห็นรูปทองของพระองค์ซึ่งซ่อนอยู่ในรูปเงาะ รจนาได้เห็นรูปที่แท้จริงของพระสังข์ จึงเสี่ยงพวงมาลัยให้เจ้าเงาะ ท้าวสามนต์เสียใจมากจึงขับไล่นางรจนาให้ไปอยู่กับเจ้าเงาะที่ปลายนา
ท้าวสามนต์รู้สึกอับอายและเสียเกียรติอย่างมากที่รจนาได้เจ้าเงาะเป็นสามี จึงวางแผนคิดฆ่าเจ้าเงาะโดยให้เขยทั้ง ๗ คนไปหาปลามาคนละ ๑๐๐ ตัว ใครได้น้อยจะถูกฆ่า พระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกัน หกเขยจึงหาปลาไม่ได้เลย มาพบพระสังข์ก็สำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงขอปลาพระสังข์จึงให้ปลาคนละ ๒ ตัวโดยขอแลกกับการเชือดปลายจมูก
ท้าวสามนตร์โกรธมากที่อุบายไม่เป็นผล จึงสั่งให้เขยทุกคนไปหาเนื้ออีก และก็เหมือนครั้งก่อน ด้วยเวทมนตร์ของพระสังข์ ฝูงเนื้อทรายทั้งหลายก็ไปชุมนุมอยู่กับพระสังข์ หกเขยได้เนื้อทรายไปคนละตัวโดยแลกกับการถูกเชือดใบหู
พระอินทร์รู้สึกว่าอาสน์ที่ประทับของพระองค์แข็งกระด้าง จึงส่องทิพยเนตรดูก็เห็นว่านางรจนามีความทุกข์เพราะเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูป ทำให้ต้องตกระกำลำบากและถูกท้าวสามนต์หาเหตุแกล้งอยู่เนืองๆ พระองค์จึงแปลงองค์ลงมาท้าตีคลีพนันเอาเมืองทับท้าวสามนต์ ท้าวสามนต์ให้หกเขย ไปตีคลีก็พ่ายแพ้ จึงจำใจไปอ้อนวอนเจ้าเงาะ เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์งดงามถูกใจท้าวสามนต์ ยิ่งได้ทราบว่าเป็นโอรสกษัตริย์ด้วยก็ยิ่งพอใจ พระสังข์ไปตีคลีได้ชัยชนะเพราะพระอินทร์แสร้งหย่อนอ่อนมือให้
พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมลพระบิดาของพระสังข์เพื่อสั่งสอนให้รู้ดีรู้ชั่วและสั่งให้ไปรับนางจันท์เทวีเพื่อไปตามพระสังข์ ท้าวยศวิมลรับนางจันท์เทวีเดินทางไปตามพระสังข์ที่เมืองท้าวสามนต์ นางจันท์เทวีเข้าไปช่วยทำอาหารในฝ่ายที่ต้องทำอาหารถวายพระสังข์ นางนำชิ้นฟักมาแกะสลัก เป็นเรื่องราวชีวิตตั้งแต่หนหลังแล้วนำมาแกง พระสังข์เสวยแกงเห็นชิ้นฟักก็สงสัยจึงนำมาเรียงกันแล้วก็รู้เรื่องทั้งหมด ในที่สุดพ่อแม่ลูกก็ได้พบกันด้วยดี ท้าวยศวิมลขอโทษในความหลงผิดของตน และชวนกันกลับบ้านเมือง พระสังข์พารจนาไปด้วย
วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552
แนะนำตัว
ชื่อเล่น : yuyyui
เวลาว่าง : อ่านหนังสือ เล่นเกม ฟังเพลง ดูทีวี
สีที่ชอบ : สีฟ้า สีชมพู
...ในสายตาที่มองหน้าเธอ จำไว้เสมอ
ไม่เคยรู้สึก..ว่าเธอเป็นเพียงเพื่อนฉัน
เพียงแค่เธอ..จะหมดรักกัน
อย่าบังคับให้ฉันรู้สึกดี
...เมื่อฉันให้เธอเป็นคนรัก