วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง (ต่อ)

ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง
การวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมของตัวละครทำให้ค้นพบว่า ในวรรณคดีโบราณซึ่งเป็นเรื่องแต่งเล่นหรือเรื่องที่มีเค้าโครงมาจากชาดก มีคุณค่าสูงควรยกย่องเป็นอย่างยิ่ง คือ มีเนื้อหาที่แฝงไปด้วยข้อคิด คติต่างๆ สามารถบันทึกหรือบรรยายเหตุการณ์ความเป็นไป บทบาท พฤติกรรม ตลอดจนบุคลิกลักษณะของตัวละครได้อย่างละเอียดทุกแง่ เป็นการแสดงว่าวรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะสมจริง พระสังข์ ตัวละครเอกของเรื่อง แม้จะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ตามลักษณะของพระเอกในวรรณคดีหลาย ๆเรื่องที่ตัวละเอกมักจะเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ แต่พระสังข์ก็เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นตัวละครเอกในวรรณคดีที่ให้มีความสมจริงมาก ซึ่งผู้แต่งใช้กลวิธีการนำเสนอ และการสร้างตัวละครตัวนี้ทุกรูปแบบเพื่อให้สมจริงและอยู่ในอุดมคติ การสร้างให้สมจริงจะสร้าง แบบใกล้เคียงความเป็นจริง เช่น ให้พระสังข์มีลักษณะเหมือนบุคคลธรรมดาที่มีทั้งลักษณะในเชิงบวกและลักษณะในเชิงลบ ส่วนการสร้างตัวละครให้อยู่ในอุดมคติจะเน้นลักษณะที่งดงาม มีความสามารถ กตัญญู และเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ฉลาดและรอบคอบ ในเวลาเดียวกันวรรณคดีเรื่องสังข์ทองก็เป็นบทละครนอกที่มุ่งการดำเนินเรื่องที่เน้นความสนุกสนาน ตลกขบขัน ดำเนินเรื่องรวดเร็ว เป็นบทละครนอกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยผสมผสานความบันเทิงให้น่าติดตาม เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความอิจฉาริษยา กิเลสมนุษย์ ไสยศาสตร์ และอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ตลกชวนหัว และฉากรักโรแมนติก อีกทั้งได้สอดแทรกคติสอนใจหลายแง่มุม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตทั้งชาววังและชาวบ้าน ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ และภูมิปัญญา ของยุคสมัยนั้นตามความเป็นจริง ลักษณะของพระสังข์นั้นมีปรากฏทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่เด่นชัดมากคือลักษณะในเชิงบวก เพราะพระสังข์เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความสามารถ ความรอบครอบเฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ เป็นต้น ส่วนในเชิงลบนั้นกล่าวว่าพระสังข์มีอีกสองรูปลักษณ์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนั้นทวิลักษณ์ของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทองสามารถแบ่งออกได้ ๒ ประเด็นคือ ลักษณะในเชิงบวก และลักษณะในเชิงลบ
ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์
ลักษณะในเชิงบวกของพระสังข์ มีหลายอย่างนับตั้งแต่รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงลักษณะนิสัยบางประการ เช่น ความกตัญญู ความสามารถความรอบครอบเฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ซึ่งสามารถแยกเป็นประเด็นต่างๆได้ดังนี้
๑. ด้านรูปลักษณ์
โดยทั่วไปตัวละครเอกในวรรณคดีไทยไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกฝ่ายชายหรือตัวละครเอกฝ่ายหญิงมักมีรูปลักษณ์ที่งดงามเป็นที่พึงใจแก่เพศตรงข้ามหรือแก่ผู้พบเห็นมากกว่าที่จะไม่งดงามหรือเป็นที่น่ารังเกียจ ผู้อ่านจะนึกเห็นรูปดังกล่าวได้จากการพรรณนาความงามของกวีหรือการพรรณนาความงามผ่านตัวละครอื่นในเรื่อง ซึ่งมักจะดำเนินตามขนบการแต่งวรรณคดีไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ พระสังข์ ก็มีรูปลักษณ์ที่งดงาม ไม่แพ้ตัวเอกในวรรณคดีเรื่องอื่น ดังในบทประพันธ์ตอนที่นางรจนาเห็นพระสังข์ถอดรูป ดังความว่า ................. เห็นรูปงามก็ตะลึงหลงใหล
น้อยหรือถอดเงาะเหมาะสุดใจ เนื้อหนังช่างกระไรราวกับทอง
หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา นงเยาว์กระหยิ่มยิ้มย่อง
คิดไว้ก็สมอารมณ์ปอง บริสุทธิ์ผุดผ่องผิวพรรณ
งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า ดูดังเทวาบนสวรรค์
..................... ................. (สังข์ทอง : ๑๘๐)
ในบทประพันธ์ตอนที่นางมณฑาเห็นพระสังข์ถอดรูป ดังความว่า
เมื่อนั้น นางมณฑาแลดูไม่รู้จัก
คิดว่าเทวาสุรารักษ์ อกใจทึกทักให้ครั่นคร้าม
นางนบนอบมอบกรานกราบไหว้ ลูกสาวยุดฉุดไว้แล้วร้องห้าม
พระมารดานิ่งอยู่ไม่รู้ความ ลูกเขยถอดเงาะงามไร
นางมณฑาว่าอ่อกระนั้นหรือ แม่คนซื่อสำคัญว่ามิใช่
ลูกเขยข้าถอดเงาะเหมาะเหลือใจ นางลูบไหล่ลูบหลังนั่งมอง
น้อยหรือน่ารักเป็นนักหนา หน้าตาจิ้มลิ้มยิ้มย่อง
สอดใส่เครื่องประดับก็รับรอง ผิวพรรณผุดผ่องดังทองทา (สังข์ทอง : ๒๖๕)
๒. กตัญญูกตเวที
พระสังข์ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูดังตอนที่นางจันท์เทวีมารดาของพระสังข์เข้าป่าไปหาของป่าพระสังข์ได้ออกจากหอยสังข์มาช่วยงานต่าง ๆ ดังความว่า
เมื่อนั้น พระสังข์ซ่อนอยู่ก็รู้สิ้น
พระแม่ไปป่าเป็นอาจิณ ในจิตคิดถวิลทุกเวลา
จะใคร่ออกช่วยพระแม่เจ้า สงสารผ่านเกล้าเป็นหนักหนา
เหนื่อยยากลำบากกายา กลับมาจนค่ำแล้วร่ำไร
ไม่ว่าลูกน้อยเป็นหอยปู อุ้มชูชมชิดพิสมัย
พระคุณล้ำลบภพไตร จะออกให้เห็นตัวก็กลัวการ
ไก่ป่าพาฝูงมากินข้าว ของพระแม่เจ้าอยู่ฉาวฉาน
คุ้ยเขี่ยเรี่ยรายทั้งดินดาน พระมารดามาเห็นจะร่ำไร
เยี่ยมลอดสอดดูทั้งซ้ายขวา จะเห็นใครไปมาก็หาไม่
ออกจากสังข์พลันทันใด ฉวยจับไม้ได้ไล่ตี
(สังข์ทอง : ๕๑- ๕๒)
๓. ความสามารถ รอบครอบ เฉลียวฉลาด
พระสังข์เป็นตัวละครที่มีความเฉลียวฉลาดดังตอนที่นางพันธุรัตสั่งห้ามไม่ให้พระสังข์เข้าไปในเขตต้องห้าม ด้วยความสงสัยพระสังข์จึงลอบเข้าไปในเขตต้องห้ามดังความว่า
ห้ามไว้มิให้ไปครัวไฟ อะไรจะมีอยู่ที่นั่น
ลับตาสาวใช้ลอบไปพลัน ได้เห็นสำคัญในทันที
(สังข์ทอง : ๑๐๘)
เมื่อพระสังข์รู้ว่าตนอยู่ในเมืองยักษ์จึงวางแผนที่จะหนีออกจากเมืองยักษ์อย่างรอบครอบ ดังความว่า ครั้นกลางคืนดื่นดึกเดือนเที่ยง เห็นพี่เลี้ยงหลับสนิทถ้วนหน้า
ค่อยย่องลงจากเตียงเมียงออกมา จากห้องไสยาทันที
ลอบลงชุบองค์ในบ่อทอง ผิวเนื้อนวลละอองผ่องศรี
เป็นทองคำธรรมชาติชาตรี สมถวิลยินดีอย่างใจคิด
แล้วขึ้นไปบนปราสาทชัย ที่ไว้รูปเงาะศักดิ์สิทธิ์
หยิบขึ้นแลเล็งเพ่งพิศ ขุกคิดขึ้นมาก็อาลัย (สังข์ทอง : ๑๑๙)
ตอนที่ท้าวยศวิมลแกล้งให้พระสังข์หาเนื้อหาปลาพระสังข์ก็สามารถหาเนื้อหาปลามาได้ดังความว่า ครั้นอุทัยไขแสงขึ้นสางสาง พระโลมนางพลางลูบหลังไหล่
สั่งเสียรจนาด้วยอาลัย พี่จะไปสักประเดี๋ยวเที่ยวหาปลา
ว่าพลางทางจับไม้เท้าทรง ใส่เกือกแก้วแล้วลงจากเคหา
แผลงฤทธิ์เหาะเหินเดินฟ้า ตรงมายังฝั่งชลธาร
ครั้นถึงจึงลงหยุดนั่ง ที่ร่มไทรใบบังสุริย์ฉาน
ถอดเงาะซ่อนเสียมิทันนาน แล้วโอมอ่านมหาจินดามนต์
เดชะเวทวิเศษของมารดา ฝูงปลามาสิ้นทุกแห่งหน
เป็นหมู่หมู่มากมายในสายชล บ้างว่ายวนพ่นน้ำคล่ำไป (สังข์ทอง : ๑๙๘)
ฝ่ายหกเขยนั้นไม่สามารถที่จะหาเนื้อหาปลาได้เลย เมื่อเห็นพระสังข์นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ก็คิดว่าพระสังข์เป็นเทวดาจึงมาขอให้พระสังข์ช่วย ดังความว่า
ปลาผักสักตัวก็ไม่ได้ คิดอัศจรรย์ใจเป็นหนักหนา
รีบพายมาจนถึงบึงปลายนา พบมัจฉานับแสนแน่นไป
เห็นพระสังข์นั่งอยู่ที่ฝั่งชล ต่างคนพิศวงสงสัย
จะเป็นเทพารักษ์หรืออะไร เถียงกันวุ่นไปทั้งไพร่นาย
จึงวาดแวะนาวาเข้ามาพลัน ทั้งหกอกสั่นขวัญหาย
ต่างก้มกรานหมอบยอบกาย บ่าวนายนึกคะเนว่าเทวา
เมื่อนั้น พระสังข์นั่งยิ้มอยู่ในหน้า
เห็นหกเขยเคอะเซอะมา สมดังจินดาก็ยินดี
จึงเสแสร้งทำไม่รู้จัก ถามทักซักไซ้ไปไหนนี่
เอะแล้วออเจ้าเหล่านี้ หน่วยก้านพานจะดีมีฝีมือ
เรือแพแหอวนก็เอามา จะลอบลักดักปลาของข้าหรือ
เราเป็นเทพเจ้าเล่าลือ นับถือทุกแห่งแพร่งพราย
แต่หักคอคนตายเสียหลายพัน อย่าดุดันดูหมิ่นมักง่าย
มาหาเรานี้ดีหรือร้าย บอกยุบลต้นปลายให้แจ้งใจ
เมื่อนั้น ทั้งหกอกสั่นหวั่นไหว
สำคัญจิตคิดว่าพระไพร กราบไหว้ท่วมหัวกลัวฤทธา
ใจคอทึกทึกนึกพรั่น ปากสั่นเสียงสั่นซังตายว่า
ท่านท้าวสามนต์ผู้พ่อตา ให้หาปลาประกวดกับอ้ายเงาะ
ข้าทอดแหแปรช้อนแต่เช้าตรู่ ออกอ่อนหูหิวหอบเที่ยวรอบเกาะ
ไม่ได้ปลาสักหน่อยชะรอยเคราะห์ ฉวยแพ้อ้ายเงาะซิน่าอาย
กลัวท้าวพ่อตาจะฆ่าเสีย สงสารแต่เมียจะเป็นม่าย
เทวดาเลี้ยงปลาไว้มากมาย ข้าขอไปถวายพอรอดตัว (สังข์ทอง : ๒๐๐)
พระสังข์รับปากว่าจะแบ่งปลาให้แต่ต้องแลกกับปลายจมูกของทั้งหกเขยดังความว่า เมื่อนั้น พระสังข์กล่าวแกล้งแจ้งประจักษ์ เราเป็นเทวดาสุรารักษ์ จะเซ่นวักสิ่งของไม่ต้องใจ จะขอปลายจมูกหม่อมลูกเขย ตามเคยคนละน้อยหามากไม่ แม้นให้เราเราจะให้ปลาไป จะให้หรือมิให้ให้ว่ามา
เมื่อนั้น หกเขยได้ฟังนั่งปรึกษา
ชิชะเจ้าเล่ห์เทวดา จะเอาปลาแลกปลายจมูกคน
แม้นเชือดเสียเมียเห็นจมูกด้วน จะทำกระบวนผินหลังนั่งบ่น
ซองสำคัญหนักหนาเข้าตาจน จะผ่อนปรนแก้ไขอย่างไรดี
บ้างว่าอย่าพักประดักประเดิด ทนเจ็บเอาเถิดไม่จู้จี้
หาปลาที่ไหนก็ไม่มี อ้ายเงาะดีหาได้สิอายมัน
นั่งนิ่งก้มหน้าดูตากัน เชือดเสียเห็นวันจะได้ไป
ต่างยอมพร้อมใจไม่กลัวเจ็บ ฉวยได้มีดเหน็บของบ่าวไพร่
ยื่นให้เทวัญทันใด ทอดถอนใจใหญ่ย่อท้อ
เมื่อนั้น พระสังข์สรวลสันต์กลั้นหัวร่อ
ยิ้มพลางทางตรัสตัดพ้อ เอออะไรใจคอเหมือนปลาซิว
แล้วเอามีดกรีดลักกับศิลา ทั้งหกตกประหม่าหน้านิ่ว
มือบีบหนีบจมูกไว้สองนิ้ว อย่าบิดพลิ้วดุดดิกพลิกแพลง
ทำเงื้อมีดกกระหยับจับจ้อง ที่ใจชั่วกลัวร้องจนเสียงแห้ง
เอาแล้วนะฉะเชือดเลือดแดง จมูกแหว่งโหว่วิ่นสิ้นทุกคน
(สังข์ทอง : ๒๐๑ – ๒๐๒)
๔. มีบุญญาธิการ
พระสังข์เป็นตัวละครอกที่มีบุญญาธิการมากเห็นได้จากตอนกำเนิดพระสังข์ จะเห็นได้ว่าพระสังข์เป็นเทวดาที่ลงมาจุติในครรภ์ของนางจันท์เทวี ดังความว่า
มาจะกล่าวบทไป สุราลัยในดาวดึงส์สวรรค์
เมื่อผลจะสิ้นพระชนม์นั้น อัศจรรย์ร้อนรนเป็นพ้นไป
รัศมีศรีตนก็หม่นหมอง สิ่งของของตัวก็มัวไหม้
เทวาตระหนกตกใจ แจ้งในพระทัยจะวายชนม์
แล้วจึงตรึกตรองส่องเนตร แจ้งใจในเหตุเภทผล
พระเจ้าท้าวยศวิมล เสสรวงบวงบนแก่เทวัญ
เทวาจะมานิมนต์เรา ให้พรากจากดาวดึงส์สวรรค์
อย่าเลยจะจุติพลัน อย่าให้เทวัญทันนิมนต์
ลงไปเกิดในมนุสสา แสวงหาศิลทานการกุศล
คิดแล้วกลั้นใจให้วายชนม์ ปฏิสนธิ์ยังครรภ์กัลยา
(สังข์ทอง : ๓๓)
ตอนที่นางจันทาทูลท้าวยศวิมลยุยงว่านางจันท์เทวีมีลูกชายมาอยู่ด้วยคนหนึ่งในป่าน่าจะเป็นลูกชู้ นำความเสื่อมเสียมาแก่ท้าวยศวิมล ให้ประหารพระสังข์เสีย ท้าวยศวิมลหลงเชื่อ สั่งประหารพระโอรสของตนแต่ด้วยบุญญาธิการของพระสังข์ จะฆ่าอย่างไรพระสังข์ก็ไม่ตาย ดังความว่า
ว่าพลางทางปูผ้าผ่อน ขับต้อนคนผู้ไม่อยู่ใกล้
ล่อลวงหลอกหลอนให้นอนไป หมายใจเสนาจะฆ่าตี
อาเพศด้วยเดชกุมารา เทวารักษาพระไทรศรี
ออกช่วยป้องกันทันที เมื่อเสนีมันทุบด้วยท่อนจันทน์
(สังข์ทอง : ๗๖)
เมื่อท้าวยศวิมลทรงทราบว่าพระโอรสมิใช่หอยสังข์แต่เป็นพระกุมารที่มีบุญญาธิการ ท้าวเธอก็จะให้รับพระโอรสและนางจันท์เทวีกลับวัง แต่ถูกนางจันทาทัดทานไว้ และในที่สุดนางจันทาเสนอให้เอาไปถ่วงน้ำจมหายไปต่อหน้าพระมารดา ด้วยบุญของพระสังข์ ถูกหินถ่วงจมลงไปตรงปล่องนาคาอันเป็นประตูสู่เมืองบาดาล พญานาคคือท้าวภุชงค์มาพบเห็นพระสังข์นอนสลบอยู่ จึงนำไปเลี้ยง แต่เห็นว่าจะเลี้ยงกันไม่สะดวกเพราะตนเป็นนาค จึงส่งพระสังข์ไปให้เพื่อนรักคือนางพันธุรัตเลี้ยงดู ดังความว่า
เมื่อนั้น ท้าวภุชงค์สงสารเป็นนักหนา
ได้ฟังทั้งนางนาคา เสน่หาฟักฟูมอุ้มองค์
บุญญาธิการก็มากมี จึงเข่นฆ่าร้าตีไม่ผุยผง
แกล้งเดือดฉันท์กันเป็นมั่นคง ยุยงชิงชังว่าจังไร
อยู่ด้วยแม่เถิดจะเลี้ยงเจ้า ร่วมวันขวัญข้าวอย่าโหยไห้
ชนนีเจ้านั้นไม่บรรลัย นานไปจะพบประสบกัน
(สังข์ทอง : ๙๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น