วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ทวิลักษณ์ของพระสังข์ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง (ต่อ ๑)

ลักษณะในเชิงลบของพระสังข์
พระสังข์ถึงแม้จะเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ก็ยังมีลักษณะในเชิงลบที่ส่งผลให้ตัวละครอื่นในเรื่องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนี้ ด้านรูปลักษณ์ เมื่อพิจารณาเนื้อหาในเรื่องสังข์ทองจะพบว่าพระสังข์ มีรูปลักษณะที่น่ารังเกียจอยู่ ๒ รูป และรูปลักษณ์แต่ละรูปล้วนสร้างปัญหาแก่พระสังข์ทั้งสิ้นดังนี้
๑. พระสังข์ และมารดาต้องถูกขับออกจากบ้านเมืองไปอยู่ป่าเพราะพระสังข์เกิดมาในรูปหอยสังข์ ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ที่น่ารังเกียจ ทำให้ผู้เป็นบิดาอับอาย ดังที่ปรากฏในบทประพันธ์ว่า
เมื่อนั้น มเหสีป่วนปั่นพระครรภ์เจ้า
มิได้วายว่างบางเบา เจ็บราวกับเขาผูกคร่าร้า
เป็นกรรมตามทันมเหสี จะจากที่สมบัติวัตถา
ยามปลอดก็คลอดพระลูกยา กุมารากำบังเป็นสังข์ทอง
มเหสีตระหนกอกสั่น สาวสวรรค์หวั่นไหวทั้งในห้อง
ผ่านฟ้าดั่งเลือดตานอง แตรสังข์แซ่ซ้องประโคมพลัน
พระทัยวาบสำเนียงเสียงศรี ภูมีขับเหล่านางสาวสรรค์
ภูมินทร์เพียงจะสิ้นชีวัน อับอายสาวสรรค์กำนัลใน
จึงตรัสกับองค์มเหสี เจ้าพี่เราจะคิดเป็นไฉน
ไม่พอที่จะเป็นก็เป็นไป เมื่อหาลูกไม่ก็ทุกข์ทน
อุตส่าห์บนบานศาลกล่าว ครั้นมีมาเล่าไม่เป็นผล
อับอายไพร่ฟ้าข้าคน พี่จะใคร่กลั้นชนม์ให้พ้นอาย
(สังข์ทอง : ๓๙)
ท้าวยศวิมลเชื่อโหรว่าการถือกำเนิดของพระสังข์ในรูปนี้จะทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนต้องแก้ไขด้วยการเนรเทศออกจากเมือง
๒. เมื่อรจนาเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ครองท้าวสามนต์รังเกียจเจ้าเงาะ เพราะมีหน้าตาอัปลักษณ์มีลักษณะค่อนไปทางยักษ์หรือลิงมากกว่าจะดูเป็นคน ดังในบทประพันธ์เด็กเลี้ยงโคได้บรรยายรูปร่างหน้าตาของเจ้าเงาะดังนี้
รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก ลางคนว่าแขกกะลาสี
อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง
บ้างว่าไอ้นี่ลิงทโมนใหญ่ บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง
หน้าตามันขันยิงฟันฟาง หรือจะเป็นผีสางที่กลางนา
(สังข์ทอง : ๑๓๑)
นอกจากนี้ท้าวสามนต์ยังบรรยายรูปร่างหน้าตาเจ้าเงาะ ดังนี้
เมื่อนั้น ท้าวสามนต์เห็นเงาะชังน้ำหน้า
เนื้อตัวเป็นลายคล้ายเสือปลา ไม่กลัวใครใจกล้าดุดัน
ผมหยิกยุ่งเหยิงเหมือนเซิงฟัก หน้าตาตละยักษ์มักกะสัน
พระเมินเสียมิได้ดูมัน แล้วมีบัญชาประชดรจนา
จงออกไปเลือกคู่ดูอ้ายเงาะ มันงามเหมาะเหลือใจเป็นใบ้บ้า
หรือจะชอบอารมณ์สมหน้าตา หน่อกษัตริย์จัดมาไม่พอใจ
(สังข์ทอง : ๑๖๕)
เจ้าเงาะและรจนาจึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ปลายนาแทนที่จะได้อยู่ในบ้านเมืองอย่างสุขสบายเหมือนธิดาและเขยอื่น ๆ ของท้าวสามนต์ นอกจากนี้ทำให้ท้าวสามนต์หาอุบายฆ่าเจ้าเงาะหลายครั้ง ทำให้เจ้าเงาะต้องแสดงความสามารถในการหาเนื้อหาปลาจึงรอดพ้นอันตรายมาได้ รูปเงาะนี้เป็นรูปลักษณ์ที่หน้ารังเกียจรูปลักษณ์ที่ ๒ ของตัวละครอกเรื่องนี้ อาจมีบางท่านแย้งว่ารูปเงาะนี้มีข้อดีอยู่เหมือนกันที่ทำให้เจ้าเงาะได้นางรจนามาเป็นคู่ครอง จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะเมื่อรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ครองนั้น รจนามองเห็นรูปทองที่อยู่ในรูปเงาะตามคำอธิษฐานของเจ้าเงาะต่างหาก ดังที่กวีบรรยายเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า
เมื่อนั้น เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน
พิศโฉมพระธิดาลาวัลย์ ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ นางในธรณีไม่มีเหมือน
แสร้งทำแลเลี่ยงเบี่ยงเบียน ให้ฟั่นเฟือนเตือนจิตคิดปอง
ขอให้ทรามสงวนนวลน้อง เห็นรูปพี่เป็นทองต้องใจรัก
เมื่อนั้น รจนานารีมีศักดิ์
เทพไทอุปถัมภ์นำชัก นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง
นางเห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน เจ้าเงาะสวมไว้ให้คนหลง
ใครใครไม่เห็นรูปทรง พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา
ชะรอยบุญเราไซร้จึงได้เห็น ต่อจะเป็นครู่ครองกระมังหนา
คิดพลางนางเสี่ยงมาลา แม้นว่าเคยสมภิรมย์รัก
ขอให้พวงมาลัยนี้ไปต้อง เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์
เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์ ผินพักตร์ทิ้งพวงมาลัยไป
(สังข์ทอง : ๑๖๖ –๑๖๗)
หากรจนามองไม่เห็น “รูปสุวรรณที่อยู่ชั้นใน” คงไม่ยอมเสี่ยงพวงมาลัยมาให้เจ้าเงาะเป็นแน่ เมื่อเจ้าเงาะถอดรูปให้รจนาเห็น รจนาพยายามทำลายรูปเงาะเพราะไม่ให้พระสังข์มีที่อำพรางตัวที่แท้จริงอีกต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้เจ้าเงาะไม่ไว้ใจรจนา เกรงว่าจะพยายามหาทางทำลายรูปเงาะของตนอีก เดือดร้อนถึงพระอินทร์ต้องมาแก้เรื่องเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูป โดยท้าท้าวสามนต์ตีคลีพนันเอาบ้านเมือง เมื่อเจ้าเงาะยอมออกไปตีคลีกับพระอินทร์ตามคำขอร้องของนางมณฑาผู้เป็นแม่ยายและรจนาผู้เป็นภรรยาทำให้เจ้าเงาะยอมถอดรูป จนแสดงความสามารถให้คนทั้งเมืองได้ประจักษ์และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นรูปโฉมที่แท้จริงว่ามีความงดงามไม่มีใครเหมือน เพราะเป็นทองไปทั้งองค์ เมื่อท้าวสามนต์เห็นครั้งแรกแสดงความชื่นชมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าในที่สุดเจ้าเงาะก็ต้องถอดรูปเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับตนเข้าร่วมในสังคมได้อย่างสนิทใจ แม้สวมรูปเงาะรจนาเองก็รังเกียจรูปเงาะ ไม่ต้องการให้พระสังข์ไว้ แต่ก็จนใจเพราะไม่อาจบังคับให้จ้าเงาะถอดรูปได้ พระอินทร์มองเห็นถึงความทุกข์ของรจนาจึงมาช่วยให้เจ้าเงาะถอดรูป อิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างลักษณะตัวละคร ในการสร้างตัวละครนั้น ผู้แต่งย่อมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางด้านสังคมและจากความต้องการของผู้แต่งเอง ดังที่ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ กล่าวเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร ไว้ในหนังสือ วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ ไว้ว่า “...ถ้าจะลองวิเคราะห์ดูตัวละครในนิพนธ์ของกวีชั้นเยี่ยม... เราจะเห็นว่านอกจากลักษณะซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลในสมัยใดชาติภาษาใด และอยู่ในชั้นวรรณะไหน ซึ่งสรุปรวมเรียกว่าลักษณะที่บ่งถึงอิทธิพลของสังคมแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษบางอย่างในตัวละครนั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะของมนุษย์ทุกกาลสมัยและทุกชาติทุกภาษา ซึ่งเป็นอิสระแก่อำนาจ สิ่งแวดล้อม และกวีนั้นเป็นฝีปากเอกหรือฝีปากพื้นๆ ก็เห็นกันได้ตรงนี้แหละ เรื่องของนักประพันธ์บางคน ชาวต่างประเทศ แม้ชาติเดียวกันแต่ต่างสมัยอ่านแล้วไม่ติดใจ เพราะนิสัยใจคอและบทบาทของตัวละครในเรื่องนั้นล้าสมัย คือถูกอิทธิพลของสมัยนั้นๆครอบงำจนเกินไป”
จากข้อความดังกล่าวเราจะสังเกตได้ว่าอิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างตัวละครพระสังข์ในเรื่องสังข์ทองนั้น มีดังต่อไปนี้ ๑. อิทธิพลทางด้านความเชื่อ
ความเชื่อเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์ยอมรับนับถือ มีทั้งสิ่งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ความเชื่อที่เกิดจากความกลัว ความเชื่อที่มนุษย์กลัวว่าตนจะเกิดทุกข์ และมีความเชื่อว่าหากทำดี พูดดีและปฏิบัติดีจะช่วยให้เกิดสุข ดังในเรื่องสังข์ทอง ตอนที่จะกำเนิดพระสังข์ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีมีความเชื่อว่าถ้าหากรักษาศีลห้า และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำความดี อาจทำให้พิธีขอพระโอรสสมปรารถนา ดังความว่า
จึงจุดธูปเทียนประทีปแล้ว เพริศแพร้วพร้อมที่ศรีใส
ทั้งสองพระองค์จำนงใน ตั้งใจบริสุทธิ์ดุษฎี
นอบน้อมพร้อมจิตพิษฐาน เดชะสมภารข้าสองศรี
ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชี โดยดีเป็นธรรม์นิรันดร์มา
ข้าไซร้ไร้บุตรสุดสวาท จะบำรุงราษฎร์ไปภายหน้า
พระเชื้อเมืองเรืองชัยได้เมตตา ขอให้เกิดบุตรายาใจ
เสร็จแล้วพระแก้วก็ไสยา ทรงศีลห้าทุกวันหาขาดไม่
ทศธรรมไม่ลำเอียงใคร ภูวนัยเข้าที่บรรทมพลัน
(สังข์ทอง : ๓๒ – ๓๓)
จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าอิทธิพลทางด้านความเชื่อนี้ถือเป็นเหตุแห่งต้นกำเนิดของตัวละครพระสังข์ที่ไดถือกำเนิดขึ้นมาเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการ ความเชื่อเรื่องเวรกรรม ที่พระสังข์ต้องพลัดพรากเพราะกรรมเก่าที่ทำมา ต้องหมดกรรมจึงจะได้อยู่พร้อมหน้าอย่างมีความสุข
....................... เจ้าแก้วตาของพี่ผู้มีกรรม
เจ้าเคยพรากสัตว์ให้พลัดคู่ เวรมาชูชุบอุปถัมภ์
แม้นมีกรรมไม่ไปใช้กรรม ไพร่ฟ้ามันจะทำย่ำยี
มิใช่พี่ไม่รักน้อง ร่วมห้องอกสั่นกรรแสงศรี
ไม่ยับดับสูญบุญมี เคราะห์ดีสิ้นกรรมจะเห็นกัน
(สังข์ทอง ๔๕)
ความเชื่อเรื่องเทพยดา ว่าเป็นตัวแทนของความดี และสามารถช่วยคนดีให้พ้นภัยได้นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถาดังในตอนที่พระสังข์หนีนางพันธุรัต แล้วนางพันธุรัตติดตามไป พระสังข์อธิษฐานไม่ให้นางพันธุรัตขึ้นไปได้ นางอ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนต์เรียก เนื้อเรียกปลาไว้ให้ที่แผ่นศิลาเชิงเขา เรียกว่ามหาจินดามนต์ดังความว่า
อันรูปเงาะไม้เท้าเกือกแก้ว แม่ประสิทธิ์ให้แล้วดังปรารถนา
ยังมนต์บทหนึ่งของมารดา ชื่อว่ามหาจินดามนต์
ถึงจะเรียกเต่าปลามัจฉาชาติ ฝูงสัตว์จัตุบาทในไพรสณฑ์
ครุฑาเทวัญชั้นบน อ่านมนต์ขึ้นแล้วก็มาพลัน
เจ้าเรียนไว้สำหรับเมื่ออับจน จะได้แก้กันตนที่คับขัน
แม่ก็คงจะตายวายชีวัน จงลงมาให้ทันทวงที
(สังข์ทอง : ๑๒๗ – ๑๒๘)
จากความเชื่อข้างต้นส่งผลต่อลักษณะการแสดงออกของพระสังข์ คือเมื่อท้าวสามนต์รู้สึกอับอายและเสียเกียรติอย่างมากที่รจนาได้เจ้าเงาะเป็นสามี จึงวางแผนคิดฆ่าเจ้าเงาะโดยให้เขยทั้ง ๗ คนไปหาปลามาคนละ ๑๐๐ ตัว ใครได้น้อยจะถูกฆ่า พระสังข์ก็ได้ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกันดังความว่า
ครั้นอุทัยไขแสงขึ้นสางสาง พระโลมนางพลางลูบหลังไหล่
สั่งเสียรจนาด้วยอาลัย พี่จะไปสักประเดี๋ยวเที่ยวหาปลา
ว่าพลางทางจับไม้เท้าทรง ใส่เกือกแก้วแล้วลงจากเคหา
แผลงฤทธิ์เหาะเหินเดินฟ้า ตรงมายังฝั่งชลธาร
ครั้นถึงจึงลงหยุดนั่ง ที่ร่มไทรใบบังสุริย์ฉาน
ถอดเงาะซ่อนเสียมิทันนาน แล้วโอมอ่านมหาจินดามนต์
เดชะเวทวิเศษของมารดา ฝูงปลามาสิ้นทุกแห่งหน
เป็นหมู่หมู่มากมายในสายชล บ้างว่ายวนพ่นน้ำคล่ำไป
(สังข์ทอง : ๑๙๘)
เมื่อพระสังข์ร่ายมนต์เรียกปลามาชุมนุมกัน หกเขยจึงหาปลาไม่ได้เลย เมื่อทั้งหกเขยมาพบพระสังข์ก็สำคัญผิดว่าเป็นเทวดาจึงขอปลาพระสังข์จึงให้ปลาคนละ ๒ ตัวโดยพระสังข์ยอมให้โดยขอแลกกับการเชือดปลายจมูกของทั้งหกเขย
๒. อิทธิพลจากค่านิยม
ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่าพึงปรารถนาต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยง เช่น ความยากจน สิ่งมีคุณค่า น่าปรารถนา หรือนำความสุขมาให้มีทั้งเป็นวัตถุและไม่เป็นวัตถุ ค่านิยมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมค่านิยมส่วนใหญ่เนื่องมาจากความเชื่อ ค่านิยมด้านความรักของพ่อแม่ มีปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งความรักของนางจันเทวีกับพระสังข์, นางพันธุรัตกับพระสังข์, ท้าวสามนต์กับธิดา ค่านิยมความกตัญญู สอนให้รู้จักสำนึกบุญคุณของผู้เลี้ยงดูมา มีปรากฏอยู่หลายตอน ทั้งพระสังข์สำนึกบุญคุณแม่จันท์เทวี หรือแม่แต่แม่บุญธรรมอย่างนางพันธุรัต ตัวอย่างเช่น
โอ้ว่ามารดาของลูกเอ๋ย พระคุณเคยปกเกล้าเกศี
รักลูกผูกพันแสนทวี เลี้ยงมาไม่มีให้เคืองใจ
จะหาไหนได้เหมือนพระแม่เจ้า ดังมารดาเกิดเกล้าก็ว่าได้
(สังข์ทอง : ๑๒๙)
๓. อิทธิพลจากสภาพสังคม
อิทธิพลจากสภาพสังคมในเรื่องสังข์ทองที่มีอิทธิพลต่อลักษณะตัวละครในเรื่องสังข์ทองก็คือ ค่านิยมสังคมในสมัยนั้นจะยอมรับผู้อื่นโดยดูจากรูปร่างหน้าตาและความสามารถ ดังตอนที่พระสังข์ อยู่ในรูปของเจ้าเงาะก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และเมื่อเมื่อรจนาเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ครองท้าวสามนต์รังเกียจเจ้าเงาะ เพราะมีหน้าตาอัปลักษณ์มีลักษณะค่อนไปทางยักษ์หรือลิงมากกว่าจะดูเป็นคน ก็ถูกท้าวสามนต์เนรเทศออกไปอยู่ปลายนา ดังความว่า
เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ชังน้ำหน้า
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา นิ่งนึกตรึกตราอยู่ในใจ
จำจะต้องเงือดงดอดกลั้น คอยหยิบผิดมันให้จงได้
คิดพลางทางสั่งเสนาใน อีรจนากูไมขอเห็นมัน
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา
(สังข์ทอง : ๑๗๐)
จะเห็นได้สังคมสมัยนั้นการยอมรับคนเข้าในสังคมจะดูที่รูปร่างหน้าตาเป็นส่วนประกอบด้วย และค่านิยมนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละคร คือ เมื่อพระสังข์อยู่ในร่างของเงาะก็จะมีลักษณะนิสัย อีกแบบหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของเงาะดังความที่ว่า
รูปร่างหัวหูก็ดูแปลก ลางคนว่าแขกกะลาสี
อย่าไว้ใจมันมักควักเอาดี นึกกลัวเต็มทีวิ่งหนีพลาง
บ้างว่าไอ้นี่ลิงทโมนใหญ่ บ้างเถียงว่าทำไมไม่มีหาง
หน้าตามันขันยิงฟันฟาง หรือจะเป็นผีสางที่กลางนา
คนหนึ่งไม่กลัวยืนหัวเราะ นี่เขาเรียกว่าเงาะแล้วสิหนา
มันไม่ทำไมใครดอกวา ชวนกันเมียงเข้ามาเอาดินทิ้ง
บ้างได้ดอดหงอนไก่เสียบไม้ล่อ ตบมือผัดพ่อล่อให้วิ่ง
ครั้นเงาะแล่นไล่โลดกระโดดชิง บ้างล้มกลิ้งวิ่งปะทะกันไปมา
(สังข์ทอง : ๑๓๑ – ๑๓๒)
เมื่อพระสังข์เป็นตัวละครเอกย่อมต้องมีรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา รูปลักษณ์ที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวของเจ้าเงาะนั้นเป็นเพียงแค่การพลางตัวของพระสังข์เท่านั้นหาใช่รูปร่างที่แท้จริงไม่ ในที่สุดเจ้าเงาะก็ต้องถอดรูปเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับตนเข้าร่วมในสังคมได้อย่างสนิทใจ แม้สวมรูปเงาะรจนาเองก็รังเกียจรูปเงาะ ไม่ต้องการให้พระสังข์ไว้ แต่ก็จนใจเพราะไม่อาจบังคับให้จ้าเงาะถอดรูปได้ พระอินทร์มองเห็นถึงความทุกข์ของรจนาจึงมาช่วยให้เจ้าเงาะถอดรูป อิทธิพลในการสร้างตัวละครอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละครที่สำคัญคือ ตัวผู้แต่ง เพราะตัวละครในวรรณคดีก็คือชีวิตมนุษย์ที่กวีได้กลั่นกรองแล้วสร้างขึ้นมานั่นเอง สรุป บทพระราชนิพนธ์ “สังข์ทอง” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นบทละครนอกที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยผสมผสานความบันเทิงให้น่าติดตาม เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความอิจฉาริษยา กิเลสมนุษย์ ไสยศาสตร์ และอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งโศกเศร้าเคล้าน้ำตา ตลกชวนหัว และฉากรักโรแมนติก อีกทั้งได้สอดแทรกคติสอนใจหลายแง่มุม สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตทั้งชาววังและชาวบ้าน ให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อ และภูมิปัญญา ของยุคสมัยนั้นตามความเป็นจริง อันก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง ทั้งยังเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าในงานวรรณกรรม ถ่ายทอดเป็นบทกลอนอันไพเราะ ซาบซึ้งกินใจ และทำให้ผู้อ่านได้รับสุภาษิตสอนใจอันเป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน นับเป็นงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ ที่เยาวชนรุ่นหลังควรศึกษา จากการศึกษาลักษณะของตัวละคร พระ สังข์ ในเรื่อง สังข์ทอง ทำให้ทราบว่าพระสังข์มีลักษณะของทวิลักษณ์ คือ มีลักษณะทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ เช่นการนำลักษณะในเชิงบวก ที่เป็นข้อคิดที่ดีงามไปยึดถือปฏิบัติ หรือนำข้อคิดจากลักษณะในเชิงลบของพระสังข์ไปเป็นบทเรียนหรือคติสอนใจ ลักษณะของพระสังข์นั้นมีปรากฏทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ที่เด่นชัดมากคือลักษณะในเชิงบวก เช่น การกตัญญูรู้คุณ ความสามารถใน ความฉลาดเฉลียว รอบครอบ นอกจากนี้พระสังข์ยังมีลักษณะเชิงบวกในด้านของรูปลักษณ์อีกด้วย ส่วนลักษณะในเชิงลบเช่น รูปลักษณ์ที่เป็นหอยสังข์ และรูปลักษณ์ที่เป็นเจ้าเงาะ นั้นได้ส่งผลกระทบ หรือได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวละครอื่น การศึกษาเรื่องทวิลักษณ์ของพระสังข์ ในเรื่องสังข์ทองนั้น เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทั้งในเชิงบวกและเชิงลบของพระสังข์ เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับอิทธิพลทางความคิดที่มีผลต่อการสร้างตัวละคร สำหรับตัวละคร พระสังข์ นั้น จะเห็นว่ามีการสร้างตัวละครแบบหลายลักษณะที่มีความสมจริง คือมีทั้งลักษณะเชิงบวกละเชิงลบซึ่งมีความขัดแย้งกันเหมือนกับมนุษย์จริงๆที่มีทั้งดีและเลว อย่างไรก็ตาม ลักษณะของพระสังข์ ตัวละครเอกในเรื่องสังข์ทอง ก็สามารถนำเอามาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ คือนำสิ่งที่ดีในเชิงบวกมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน และนำส่วนที่ไม่ดีในเชิงลบมาเป็นข้อคิดและคติเตือนใจ อิทธิพลในการสร้างตัวละครอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวละครที่สำคัญคือ ตัวผู้แต่ง เพราะตัวละครในวรรณคดีก็คือชีวิตมนุษย์ที่กวีได้กลั่นกรองแล้วสร้างขึ้นมานั่นเอง